หากแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามราตรี จะพบดวงดาวน้อยใหญ่มากมาย ดาวบางดวงส่องแสงระยิบระยับเรืองรองสะดุดตา บางดวงทำหน้าที่ชี้นำให้คนไม่หลงทาง แต่หนึ่งในดาราทั้งหลายร้อยล้านดวงบนท้องนภา อาจจะมีดาวเคราะห์ดวงน้อยๆ หรือสะเก็ดดาวที่ใช้เวลานับพันปี รอคอยเวลาส่องแสงขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวเพื่อให้คนเห็นและจดจำซึ่งคงไม่เกินไปหากจะเปรียบบุคคลชลประทานของเราในฉบับนี้ นายประเสริฐ แสนหลี หัวหน้างานสำรวจกันเขต 1 สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ว่าเป็นดวงดาวสกาวแสง ในท่ามกลางข้าราชการชลประทานนับพันชีวิต
ดาวดวงนี้…จากเชียงใหม่
นายประเสริฐ แสนหลี ภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่เกิดในครอบครัวที่มีคุณพ่อมีอาชีพเป็นสล่า(ผู้รับเหมาก่อสร้าง) ส่วนคุณแม่เป็นแม่ค้า สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาช่างสำรวจ จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2535 ประเสริฐ เล่าให้ฟังถึงเรื่องการเรียนในสมัยนั้นว่า สาขาวิชาช่างสำรวจ ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเรียนกันมากนักแต่ตัวเขาเองกลับมองว่า ถ้าเรียนจบทางด้านนี้คงจะหางานได้ง่ายและมีโอกาสที่จะบรรจุเข้ารับราชการสูง โดยเมื่อศึกษาจบ ระหว่างนั้น 1 ปี ก็เข้าสอบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสอบบรรจุได้ที่กรมชลประทาน เมื่อ พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเหมาะสมกับความรู้ความสามารถที่มี ในตำแหน่งนายช่างสำรวจ 2 ฝ่ายสำรวจที่ดินทำแผนที่พื้นดินส่วนเหนือ กองสำรวจภูมิประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา
ปัญหาและอุปสรรคของงานสำรวจ
ประเสริฐอธิบายว่า ตำแหน่งนายช่างสำรวจ จะมีหน้าที่เกี่ยวกับการรังวัดส่องกล้องสำรวจพื้นที่ที่โครงการชลประทานจะเข้าไปก่อสร้างคลอง เหมือง ฝาย หรืออ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 1 มีเขตรับผิดชอบ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
“ความยากของงานสำรวจนั้นจะอยู่ที่พื้นที่ ซึ่งทางภาคเหนือจะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา พื้นที่มีความลาดชันเป็นป่าเขา ยากต่อการทำงาน บางครั้งการเดินเท้าเข้าไปรังวัดส่องกล้องจึงต้องใช้ความพยายามอย่างสูง เพราะจะเจอปัญหาและอุปสรรคตลอดเวลา”
ระหว่าง พ.ศ. 2537-2553 นายประเสริฐ ซึ่งปฏิบัติงานในตำแหน่งนายช่างสำรวจอย่างตั้งใจและพากเพียร เขาได้พัฒนาฝีมือและประสบการณ์ของตนเองอยู่ตลอดเวลา และได้เลื่อนตำแหน่งจาก นายช่างสำรวจ 2 ไปจนถึงนายช่างสำรวจ 6 ก่อนจะได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งเป็น นายช่างสำรวจชำนาญงาน ฝ่ายสำรวจกันเขตภาคเหนือ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553
“งานฝ่ายสำรวจกันเขต แม้ลักษณะงานจะคล้ายกับงานสำรวจภาคพื้นดินแต่จะแตกต่างกันตรงที่งานสำรวจกันเขตจะเป็นการรังวัดเพื่อจัดหาที่ดินเพื่อการชลประทาน”
ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับงานสำรวจ
เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้กับโครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 27 ปีที่ปฏิบัติงานด้านการสำรวจ บุคคลผู้นี้มีโอกาสได้ไปทำงานสำรวจทำแผนที่เพื่อการออกแบบในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ของโครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลในป่าเขาที่ทุรกันดาร “กระผมมีความภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของกรมชลประทานในงานจัดหาน้ำสนับสนุนให้โครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้ผมได้มีโอกาสช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ให้ได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
แสงทอประกายเทียบดวงดารา
พ.ศ. 2564 ประเสริฐ มีอายุ 50 ปี เกือบ 3 ทศวรรษ กับการมีส่วนในภารกิจพัฒนาแหล่งน้ำในเขตภาคเหนือของกรมชลประทาน เดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง ความดีความชอบของเขา ผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการปฏิบัติงานและการครองตน ทำให้ได้มาซึ่งเกียรติยศอันทรงคุณค่า คือ รางวัลข้าราชการดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2563
“กระผมมีความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตราชการที่ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นระดับประเทศ เพราะคิดว่าการได้รางวัลข้าราชการดีเด่นระดับกรมนั้นถือว่าสูงสุดแล้ว”
ท้ายนี้ นายประเสริฐ แสนหลี กล่าวต่ออีกว่า รางวัลคือสิ่งเตือนใจให้เรามุ่งมั่นทำความดี และด้วยอายุราชการอีก10 ปีที่เหลือของเขา เขาสัญญาว่า จะยังคงทุ่มเทปฏิบัติงานตามสายงานอย่างมุ่งมั่นและตั้งใจต่อไป จากคำพูดข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้จะเป็นเพียงดาวดวงน้อยๆ แต่เมื่อโอกาสมาถึง วันหนึ่งแสงที่ส่องก็อาจทอประกายแสงแวววับเท่าดวงดาราที่ดารดาษอยู่เต็มฟ้า ในคืนเดือนมืด ให้คนเห็นได้อย่างเด่นชัด