ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ชี้ช่องรวย แนะเทคนิคการออกแบบ “โลโก้” ตามหลัก “ฮวงจุ้ย” ช่วยหนุนธุรกิจ


“โลโก้” ที่ดีจะมีอิทธิพลช่วยทำให้ธุรกิจของเราประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น ในทางกลับกันหาก โลโก้ ที่ออกแบบมาผิดอาจทำให้กิจการมีอุปสรรคปัญหาได้ เคล็ดลับหรือหลักการออกแบบที่สำคัญประการแรกเลย คือ เราต้องเข้าใจเรื่อง 5 ธาตุ เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจออกแบบโลโก้ตามหลักของ “ฮวงจุ้ย”

  • ธาตุไฟ (Fire) ตัวแทนคือ สีแดง สีเหลือง สีส้ม สีม่วง สีชมพู รูปสามเหลี่ยม
  • ธาตุดิน (Earth) ตัวแทนคือ สีเหลือง สีขาว สีน้ำตาลอ่อน รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
  • ธาตุทอง (Metal) ตัวแทนคือ สีขาวออกเงิน สีทอง สีเทา รูปวงกลม
  • ธาตุน้ำ (Water) ตัวแทนคือ สีน้ำเงิน สีดำ รูปคลื่น
  • ธาตุไม้ (Wood) ตัวแทนคือ สีเขียว สีน้ำตาล รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ขั้นตอนการออกแบบโลโก้ตามหลักฮวงจุ้ย

  1. ตรวจสอบดวงชะตาของเจ้าของกิจการว่าเป็นธาตุใด ถ้ามีหุ้นส่วนแต่ละคนธาตุอะไร ใครทำหน้าที่อะไร จะพิจารณาเอาดวงชะตาใครเป็นหลักในการออกแบบ และคนอื่นๆ เป็นรอง เช่น นายสมชายหุ้นกันทำธุรกิจกับ นางสาวสมหวังกับนายปรีชา หากว่านายสมชายเป็นคนธาตุดิน นางสาวสมหวังเป็นคนธาตุไม้ และนายปรีชาเป็นคนธาตุทอง จะออกแบบอย่างไรให้เสริมดวงทั้งสามคน
  2. พิจารณาถึงธาตุของธุรกิจ ประเภทสินค้าและบริการ ส่งเสริมดวงเจ้าของกิจการหรือไม่ หากธุรกิจที่ทำพิฆาตดวงชะตา จะทำอย่างไรโดยที่ไม่ต้องเลิกกิจการ และควรเลือกใช้สีหรือสัญลักษณ์อะไรในการออกแบบ
  3. พิจารณากลุ่มอายุของลูกค้าที่ส่งผลให้การเลือกใช้โทนสีเข้ม อ่อน เลือกใช้ฟอนต์และกระดาษแตกต่างกันไป
  4. ควรออกแบบโลโก้ฮวงจุ้ยให้มีพลัง และมีความหมายที่ดี
  5. จดจำได้ง่าย แสดงตัวตน หัวใจของธุรกิจได้อย่างชัดเจน
  6. มีองค์ประกอบของธาตุหลายธาตุ เสริมพลังกันจำนวน 3-5 ธาตุ โลโก้แบรนด์ดังๆ ติดตลาดระดับโลก เช่น Google, Google Chrome, Microsoft,7-11 ล้วนถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยทั้งสิ้น

หลักการส่งเสริมและทำลายกันของธาตุทั้ง 5

ธาตุที่ส่งเสริมกัน                    ธาตุที่ทำลายกัน

ธาตุไม้ ส่งเสริม ธาตุไฟ            ธาตุไม้ ทำลาย ธาตุดิน
ธาตุไฟ ส่งเสริม ธาตุดิน           ธาตุดิน ทำลาย ธาตุน้ำ
ธาตุทอง ส่งเสริม ธาตุน้ำ          ธาตุน้ำ ทำลาย ธาตุไฟ
ธาตุน้ำ ส่งเสริม ธาตุไม้
ธาตุดิน ส่งเสริม ธาตุทอง

โลโก้ที่ออกแบบตามหลักฮวงจุ้ย ไม่จำเป็นต้องใช้หลายสี แต่ใช้การผสมผสานธาตุให้โดดเด่นด้วย “เส้นสาย” “สีสัน” “ความสว่าง” โดยการจัดวางใน “ขนาด” และ “ทิศทาง” ที่เหมาะสม ถ้าทำให้โดดเด่นทั้งองค์ประกอบทั้งหมดก็จะถือว่าสมบูรณ์แบบ

ซึ่งจะทำให้บุคคลที่พบเห็นเกิดความประทับใจ มีอารมณ์และความรู้สึกที่ดี น่ารัก น่าคบหา น่าใช้บริการ และนึกถึงทุกครั้งที่ต้องการสินค้าหรือบริการนั้น ๆ โดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม