ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่และมาตรการของภาครัฐ ทำให้ในเดือนมกราคม 2565 ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และ โคเนื้อ มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาปรับลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 9,966 – 10,075 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.17 – 2.27 เนื่องจากฮ่องกงมีความต้องการใช้ข้าวหอมมะลิเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับภาครัฐดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ฯ เพื่อชะลอการขายข้าวที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา
ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,160 – 8,460 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.18 – 4.90 เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวนาปีออกสู่ตลาดน้อยลง และภาครัฐดำเนินมาตรการโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ฯ
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาอยู่ที่ 9.08 – 9.16 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.85 – 1.73 เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 เข้าสู่ช่วงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ทำให้ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดน้อยโดยมีผลผลิตเพียงร้อยละ 2.59 ของปริมาณผลผลิตทั้งปี
ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้น ประกอบกับยังมีการแข่งขันด้านราคา ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับเพิ่มราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 18.97 – 19.41 เซนต์/ปอนด์ (14.05 – 14.38 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.87 – 4.25 จากความต้องการนำเข้าน้ำตาลของหลายประเทศที่เพิ่มขึ้น เพราะปริมาณน้ำตาลของประเทศผู้บริโภค เริ่มลดลงและค่าระวางเรือที่ปรับลดลงทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำตาลลดลง
ประกอบกับความต้องการเอทานอลที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในบราซิลปรับลดสัดส่วนจากการนำอ้อยเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทราย เปลี่ยนเป็นผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น อีกทั้งโรงงานน้ำตาลในประเทศบราซิล 57 โรงงาน ได้ปิดทำการในช่วงเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายของโลกปรับตัวลดลง
ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 54.95 – 55.90 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.46 – 5.25 เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาโรคไวรัสโควิด-19 หรือฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับคนไข้เพิ่มขึ้น ประกอบกับภาครัฐดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพยางพาราของภาครัฐในการดูดซับผลผลิตยางพาราในตลาด
สุกร ราคาอยู่ที่ 77.56 – 81.29 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.45 – 6.31 เนื่องจากความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและผู้บริโภคเพื่อใช้ในการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มีผลผลิตสุกรมีแนวโน้มลดลงจากการที่ผู้เลี้ยงสุกรจะชะลอการผลิตเพราะต้นทุนการผลิตที่สูง
กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 163.73 – 164.39 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.45 – 0.85 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมออกสู่ตลาดน้อย เพียงร้อยละ 5.82 ของผลผลิตทั้งปี ขณะที่ความต้องการบริโภคกุ้งเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ
และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 98.00 – 101.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.29 – 3.36 เนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ แม้จะมีการยกเลิกการจัดงานในบางพื้นที่ แต่ยังไม่มีการจำกัดการเดินทางกลับภูมิลำเนา เอื้อต่อธุรกิจท่องเที่ยวบริการและร้านอาหารต่าง ๆ สามารถเปิดบริการได้ รวมถึงการทยอยส่งโคเนื้อมีชีวิตไปจำหน่ายยังประเทศจีนผ่านประเทศลาว ปัจจุบันมีความต้องการซื้อแล้วกว่า 5 แสนตัว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาโคเนื้อที่เกษตรกรขายได้
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,644 -7,701 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.70-1.43 เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวกับประเทศคู่แข่งยังคงรุนแรง และประเทศอินเดียผู้ส่งออกข้าวอับดับ 1 ของโลก ระบายข้าวในสต็อกเพิ่มขึ้น
มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.20 – 2.26 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.88 – 3.51 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนมกราคม 2565 ประมาณ 6.59 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 20.15 ของผลผลิตทั้งปีการผลิต 2564
ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 8.10 – 8.40 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.22 – 6.60 เนื่องจากมาตรการภาครัฐยังคงขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานสกัดตรึงราคาน้ำมันปาล์มดิบจากการที่ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับตัวสูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับโควิดระลอกใหม่อาจส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันในการเดินทางลดลง.