โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ชี้ช่องรวย แนะ อาชีพเสริม เพิ่มรายได้ “เพาะเห็ดในโอ่ง” ไม่ต้องมีโรงเรือนก็ปลูกได้

ใครว่าการเพาะเห็ดเป็นเรื่องยากในยุคสมัยนี้ หากยากจะเพาะเห็ดไว้กินไว้ขายเป็นอาชีพเสริม ก็ไม่จำเป็นต้องมีโรงเรือนอีกต่อไป วันนี้ ชี้ช่องรวย จะมาแนะนำวิธีการ “เพาะเห็ดในโอ่ง” ที่ง่ายแสนง่ายลงทุนน้อย ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่หรือหาซื้อใหม่ก็ยังลงทุนน้อยกว่าการสร้างโรงเรือนแน่นอน มาดูกันเลยว่าจะมีอะไรบ้าง

วัสดุและอุปกรณ์ในการเพาะเห็ดในโอ่งแบบมาตรฐาน

  1. โอ่งมังกร (โอ่งแตก หรือโอ่งร้าว) จำนวน 1 ใบ
  2. ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าหรือเห็ดถุงชนิดอื่นๆ จำนวน 20 ก้อน
  3. ตาข่ายพรางแสง หรือกระสอบป่าน สำหรับปิดปากโอ่ง จำนวน 1 ผืน
  4. ไม้ไผ่ตีเป็นตะแกรง ขนาดความกว้าง ยาว ให้พอดีกับขนาด โอ่งที่เตรียมไว้
  5. กรอบไม้ทำฐานรองพื้นโอ่ง (ด้านนอก)
  6. ทรายหยาบ รองพื้นโอ่ง
  7. เชือกฟาง
  8. บัวรดน้ำ

ขั้นตอนการเพาะเห็ดโอ่ง

  1. นำไม้ที่เตรียมไว้สำหรับทำฐานรองโอ่งด้านนอก มาตีล้อมกรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยให้มีพื้นที่ว่างระหว่างกรอบไม้เพียงพอต่อการวางพื้นที่ผิวของโอ่งที่จะ วางในแนวนอน ไม่ให้โอ่งกลิ้ง
  2. นำโอ่งมานอนลง จัดหาสถานที่เหมาะๆ ใต้ร่มไม้หรือที่มีร่มเงา ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น
  3. นำทรายหยาบมาเทรองพื้นโอ่งที่วางไว้ในแนวนอน กะให้มีความหนาประมาณ 2-3 นิ้ว เพื่อกักเก็บความชื้น
  4. นำตะแกรงไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาวางด้านในโอ่ง ทำเป็นแผงสำหรับวางก้อนเชื้อเห็ด โดยให้มีพื้นที่ว่างด้านบนมากกว่าพื้นที่ว่างด้านล่าง
  5. นำก้อนเชื้อเห็ดที่ต้องการเพาะมาเรียงไว้จนเต็ม และทำการเปิดดอก ด้วยวิธีการเปิดจุกก้อนเชื้อด้านบน บังคับให้ดอกออกเป็นกระจุกด้านบน ก่อนวางเรียงก้อนเชื้อเห็ดจนเต็ม
  6. ปิดปากโอ่งด้วยกระสอบป่านหรือตาข่ายพรางแสง แล้วใช้เชือกผูกยึดกระสอบกับขอบปากโอ่งให้แน่น โดยปล่อยชายกระสอบให้สามารถเปิดขึ้นลงได้
  7. รดน้ำบนก้อนเชื้อเห็ด เช้า-กลางวัน-เย็น ถ้าพบว่ากองเห็ดแห้งเกินไป ควรเพิ่มความชื้นโดยใช้กระบอกฉีดน้ำ พ่นน้ำให้เป็นฝอยในโอ่ง เพื่อเป็นการให้ความชื้นแก่ก้อนเห็ด แล้วปิดปากโอ่งไว้ดังเดิม

ข้อแนะนำสำหรับการเพาะเห็ดโอ่ง

  • ควรระมัดระวังในช่วงวันที่ 1-3 ถ้าร้อนเกินไป ให้เปิดกระสอบป่านหรือตาข่ายพรางแสงเพื่อระบายความร้อน
  • หลังเพาะประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมองเห็นตุ่มสีขาวเล็กๆ เกิดขึ้นบนก้อนเชื้อเห็ด ในช่วงนี้ต้องระวังเรื่องการรดน้ำ อย่าให้ดอกเห็ดโดนน้ำเป็นอันขาด มิฉะนั้นดอกจะฝ่อและเน่าเสียหาย แต่ยังคงต้องพ่นน้ำให้ความชื้นอยู่ทุกวัน
  • ประมาณ 7-10 วัน เห็ดจะออกดอกเก็บรับประทานได้ สามารถเก็บดอกเห็ดมารับประทานได้แล้วทุกวัน จนกว่าดอกเห็ดจะหมดไป ใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน
  • น้ำที่ใช้สำหรับการรดก้อนเชื้อเห็ดจะต้องเป็นน้ำที่จืด มีค่า pH เป็นกลาง ไม่มีคลอรีนเจือปน เรื่องน้ำที่ใช้รดก้อนเห็ดนั้นสำคัญมาก ถ้าน้ำกร่อยหรือเค็มจะส่งผลให้เห็ดไม่ออกดอก
  • น้ำที่ดีที่สุดคือ น้ำฝน หรือจะใช้น้ำประปาที่ผ่านการขจัดคลอรีนออกแล้วก็ได้ผลดีเช่นกัน (การรองน้ำประปาตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน จะช่วยขจัดคลอรีนออกไปได้)

การดูแลรักษาเห็ดโอ่ง

  1. ข้อระวัง น้ำที่ใช้รดเห็ดจะต้องเป็นน้ำจืด ไม่มีคลอรีนเจือปน ไม่เป็นน้ำกร่อย น้ำเค็ม ระวังน้ำเค็มไม่สามารถจะใช้รดเห็ดได้ เพราะเห็ดจะไม่ออกดอก
  2. เห็ดแต่ละชนิดต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสมในการผลิตดอกเห็ดไม่เหมือนกัน เห็ดนางรม เห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดหูหนู ต้องการอุณหภูมิธรรมดาในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูฝน ส่วนเห็ดนางฟ้าและเห็ดหอม ต้องการอุณหภูมิค่อนข้างเย็น