ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

กสิกรไทย เตือนภัยมุกใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลอมหน้า – เสียง หลอกเป็นตำรวจ ลูกค้าโดนหลอกสูญเงินกว่า 6 แสนบาท


ธนาคารกสิกรไทย เผยได้รับแจ้งจากลูกค้าโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน สูญเงินตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลายล้านบาท โดยเคสล่าสุดใช้กลโกงใหม่โทรวิดีโอคอล (VDO Call) และใช้เทคโนโลยี Deepfake ตัดต่อคลิปวิดีโอปลอมใบหน้า เสียง และท่าทางหลอกว่าเป็นตำรวจ และให้ลูกค้าโอนเงินกว่า 6 แสนบาท ธนาคารย้ำความสำคัญในการป้องกันภัยคุกคามทางการเงิน พร้อมประสานงานกับหน่วยงานรัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทัน จัดระบบตรวจสอบบัญชีผิดปกติและอัปเดตกลโกงมิจฉาชีพและรณรงค์ 3 แนวทางรู้ทันมิจฉาชีพ #ใช้สติป้องกันสตางค์ “ไม่เชื่อ – ไม่ให้ข้อมูล – ไม่โอน” ผ่านสื่อต่างๆ ของธนาคาร

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้วิธีหลอกลวงได้แยบยลและดูน่าเชื่อถือมากขึ้น หลอกเหยื่อทางโทรศัพท์ สร้างสถานการณ์ให้ตื่นตระหนก หรือหลอกล่อด้วยเงินรางวัลต่างๆ ทำให้มีจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อ และสูญเสียทรัพย์ไปเป็นจำนวนมาก โดยกลโกงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มักแอบอ้างเป็นธนาคารคือ โทรแจ้งว่าลูกค้าติดหนี้บัตรเครดิต และขอให้ลูกค้ารีบชำระเงินโดยด่วนด้วยการโอนเงินเข้ามายังบัญชีที่หลอกลวง

กรณีล่าสุดเป็นกลโกงใหม่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นกับลูกค้าธนาคาร ซึ่งได้รับสายโทรศัพท์ระบุเป็นเบอร์โทรจากต่างประเทศ อ้างตนเป็นพนักงานของบริษัทขนส่งเอกชนแจ้งเรื่องพัสดุมีของผิดกฎหมาย และขอให้เปิดวิดีโอคอล เพื่อพูดคุยกับตำรวจ แต่เป็นตำรวจตัวปลอมที่ใช้เทคโนโลยี Deepfake ให้ภาพขยับแค่ปากและใส่เสียงพูดเชิงข่มขู่ว่าพัสดุที่ส่งเป็นสมุดบัญชีซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นการฟอกเงิน โดยจะขอตรวจสอบบัญชีด้วยการให้โอนเงินออกจากบัญชีมาไว้ที่ตำรวจ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ และพูดหลอกล่อจนลูกค้าโอนเงินให้ทั้งหมด และกว่าลูกค้าจะรู้ตัวว่าถูกหลอก แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ถอนเงินจำนวนกว่า 6 แสนบาทออกจากบัญชีไปหมดแล้ว

นายกฤษณ์ กล่าวต่อว่า ธนาคารได้วางแนวทางการทำงาน 3 ด้าน ในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้แก่ 1) ดำเนินการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในโครงการระบบรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยจะมีการประสานการปฏิบัติงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ธนาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และสอดคล้องกับรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น 2) มีระบบตรวจสอบ และจัดการบัญชีที่มีธุรกรรมผิดปกติ เพื่อนำไปสู่แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตทางการเงินของมิจฉาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) อัปเดตกลโกงมิจฉาชีพและร่วมรณรงค์เผยแพร่ 3 แนวทางรู้ทันมิจฉาชีพและภัยไซเบอร์ #ใช้สติป้องกันสตางค์ “ไม่เชื่อ – ไม่ให้ข้อมูล – ไม่โอน” ผ่านสื่อต่างๆ ของธนาคาร