สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ชูธงสร้างผู้ประกอบการมืออาชีพ ปลายด้ามขวานทอง พร้อมดึงหน่วยงานพันธมิตร ประกอบไปด้วย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย GHA ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารออมสิน และทีมดีแทค เน็ตทำกิน จัดกิจกรรมอบรม เติมทักษะสร้างท่องเที่ยวชุมชนเข้มแข็ง สู่เบตง ยะลา เมืองแห่งท่องเที่ยวชุมชนมืออาชีพ” เพื่อร่วมปั้นผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้ก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดงาน
นางสาววรชนาธิป กล่าวระหว่างการเปิดงาน ถึงการเลือกให้เบตง เป็นจุดตั้งต้น ในการเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดแดนภาคใต้นั้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม จากสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของธรรมชาติ วิถีชุมชุมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมไปถึงภูมิประเทศที่ติดกับประเทศมาเลเซีย สะดวกต่อการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว และการเปิดใช้สนามบินอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น การเติมเต็มเพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากร ในทุกมิติ ทั้งภาคการคมนาคมขนส่ง การให้บริการของโรงแรม ที่พัก รวมถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี ที่จะมาช่วยส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ ก็จะสามารถการจะช่วยให้มีแนวทาง รองรับนักท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายนรินทร์ เรืองวงศา ที่ปรึกษาจากสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย กล่าวว่า การกลับมาของภาคธุรกิจเมืองเบตง สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรภาคการท่องเที่ยว ที่จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย การให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่ใช้บริการได้ ซึ่งผู้ประกอบการ ที่ได้การรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ให้ได้รับการบริการ ที่มีคุณภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล
นายณัฐสัณห์ สงค์จินดาศักดิ์ นายกสมาคมพ่อค้าเบตง กล่าวว่าถือเป็นโอกาสที่ดี ที่คนในอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า จะได้รับความรู้และทักษะเพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากในปัจจุบัน การขายของรูปแบบเดิมคงจะไม่เพียงพออีกต่อไป ทั้งนี้ หากมีโอกาสอยากให้ทางสถาบันฯ ช่วยเติมทักษะเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เพื่อให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้า ได้นำมาใช้รับแขกบ้าน แขกเมือง ยกระดับคนในอาชีพได้
ขณะที่นางนภาเพ็ญ ปิยานนท์พงค์ ที่เข้าร่วมกิจกรรมอบรม กล่าวขอบคุณที่ สคช. ที่มาช่วยจุดประกาย ในการเริ่มต้นอาชีพเสริม เพื่อหารายได้เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามหลังจากนี้อยากให้มีการจัดอบรม เรื่องการทำขนม เพื่อเป็นแนวทางการสร้างรายเพิ่มเติมจากรายได้ประจำได้อีกด้วย
การสร้างผู้ประกอบการมืออาชีพ โดยเริ่มต้นปักหมุดที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่พยายามเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่เบตง พร้อมผลักดันให้เป็นต้นแบบด้านการค้าชายแดน รวมถึงรองรับการพัฒนาในโครงการเบตงหมื่นล้าน ที่ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยว 2 ล้านคนต่อปี และกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายเฉลี่ยไม่น้อยกว่าคนละ 5,000 บาท ดังนั้นการเร่งสร้างกำลังคนในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป