คลัง เตรียมเปิดลงทะเบียน “บัตรคนจน” รอบใหม่เดือน ส.ค.นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้สาถบันการเงินของรัฐ อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอเงื่อนไขการจัดทำระบบเพื่อลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตอนนี้กำลังเปิดให้ธนาคารรัฐเสนอเงื่อนไขการเสนอตัวเป็นผู้จัดทำระบบการลงทะเบียนบัตรคนจน และการใช้บัตรคนจน เนื่องจากรอบนี้จะกำหนดให้ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรคนจนใบเดิม แต่บัตรคนจนใบเดิมนั้น สามารถกดเงินสดได้ ดังนั้นต้องมาดูว่าเมื่อใช้บัตรประชาชนแล้ว จะสามารถกดเงินสดได้ในช่องทางใดได้บ้าง เบื้องต้นน่าจะใช้ลักษณะการผูกระบบพร้อมเพย์กับธนาคาร เป็นต้น
สำหรับการเปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการรัฐรอบใหม่นี้ คาดว่าคนจนจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 13 ล้านคน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อย ส่วนงบที่ใช้ในการลงทะเบียนน่าจะอยู่หลักสิบถึงร้อยล้านบาท
มีรายงานว่า สาเหตุที่กระทรวงการคลังต้องเปิดให้มีการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการรัฐรอบใหม่ เนื่องจากข้อมูลผู้ถือบัตรคนจนในปัจจุบันเป็นข้อมูลในปี 2559-2561 และที่ผ่านมายังมีกลุ่มตกหล่นที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการ
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนร่วมโครงการประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งรวมถึงผู้ถือบัตรคนจนในปัจจุบันประมาณ 13 ล้านคนและผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิรายใหม่ และคาดว่ากระทรวงการคลังได้ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทะเบียนรอบนี้จำนวนกว่า 560 ล้านบาท
คุณสมบัติผู้ “ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 2565”
1.มีสัญชาติไทย
2.มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
3.ไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
4.รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมรายได้ของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)
5.ทรัพย์สินทางการเงินได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตรและตราสารหนี้ภาครัฐ ของผู้ลงทะเบียนต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมมูลค่าทรัพย์สินทางการเงินของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)
6.ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ ดังนี้
- วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
- วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท
7.ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
8.อสังหาริมทรัพย์ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว
- ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
1.1กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว
- บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
- ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
1.2 กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
2.1 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
2.2 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่
กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว
- ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
1.1 กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว
1.1.1 กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดินที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
1.1.2 กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
1.2 กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่
2 ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย
2.1 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่
2.2 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่
ทั้งนี้ “บัตรคนจน” หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ช่วยลดภาระค่าครองชีพ อาทิ มีวงเงินซื้อสินค้า, ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม, ค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า, ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเงินเพิ่มเบี้ยความพิการ เป็นต้น