เรื่องเล่าคนใช้น้ำฉบับนี้ เดินทางไปที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อขอคำแนะนำวิธีการบริหารจัดการน้ำกับเกษตรกรกลุ่ม บริหารการใช้น้ำคลองด้วน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว สำนักงานชลประทานที่ 12 ที่ปีนี้มีเคล็ดลับการบริหารจัดการน้ำจนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565
ฝนก็แล้ง คนยังแย่งชิงน้ำ
นายเกษมชัย แสงสว่าง เลขานุการกลุ่มบริหารการใช้น้ำคลองด้วน เล่าความเป็นมาของกลุ่มว่า ก่อน พ.ศ. 2542 เกษตรกรตำบลหนองโพธิ์ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ต่างประสบปัญหาภัยแล้งเป็นอย่างมาก แม้จะมีแหล่งน้ำต้นทุนจากเขื่อนกระเสียวที่ส่งให้ใช้ตลอดทั้งปี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ก็ตาม
“เมื่อก่อนมันแล้งมาก แม้จะมีเจ้าหน้าที่ชลประทานคอยปล่อยน้ำให้ แต่เมื่อไม่มีกฎระเบียบคอยกำกับดูแลก็จะมีการสูบน้ำไปใช้อย่างอิสระ บางบ้านไม่ได้รับน้ำ จึงเกิดการทะเลาะแย่งชิงน้ำกัน เหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีเจ้าหน้าที่ชลประทานมาให้คำแนะนำในการจัดตั้งกลุ่มขึ้น โดยมีสมาชิกเริ่มต้นจำนวน 693 คน”
การสร้างความเท่าเทียม ปัจจัยความสำเร็จของ เกลุ่มบริหารการใช้น้ำคลองด้วน
เมื่อมีการรวมกลุ่มแล้ว สถานการณ์ทุกอย่างได้เริ่มคลี่คลาย เพราะการมารวมตัวกันจะทำให้เกษตรกร ได้หันหน้าเข้าหากันมาประชุมร่วมกัน กระทั่งเกิดการตั้งกฏระเบียบและกติกาการใช้น้ำร่วมกันขึ้นมา
“ที่กระเสียว เราเป็น JMC หรือคณะกรรมการจัดการชลประทาน ดังนั้นก่อนที่กรมชลประทานจะปล่อยน้ำ กลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงต้องส่งตัวแทนมาประชุมร่วมกัน รับรู้ว่าน้ำต้นทุนมีอยู่เท่าไหร่ และตกลงกันว่าแต่ละกลุ่มจะรับน้ำเท่าไหร่ น้ำที่ปล่อยออกมาต้องไม่เสียเปล่า ซึ่งก็ได้ ข้อสรุปว่า เราจะบริหารจัดการน้ำด้วยการสร้างความเท่าเทียม โดยจะเปิดให้ผู้ใช้น้ำในแต่ละคลองเท่าๆ กัน กำหนดให้คนต้นคลองใช้ก่อน เมื่อรับน้ำเสร็จแล้วต้องปิดการสูบน้ำ จากนั้นจึงส่งไปให้คนที่อยู่ส่วนกลางคลอง และปลายคลอง ตามลำดับ”
ไม่ทำความสะอาด ก็ไม่ปล่อยน้ำ
นายเกษมชัย อธิบายอีกว่า เมื่อมีการตกลงเรื่องลำดับการรับน้ำแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาคือ การทำความสะอาดคลองก่อนปล่อยน้ำ หากไม่ทำความสะอาดก็จะไม่มีการปล่อยน้ำให้เด็ดขาด โดยมีหัวหน้ากลุ่มย่อยคอยทำหน้าที่ตักเตือน เพื่อให้สมาชิกเกิดการตระหนักว่าน้ำที่ถูกปล่อย ไปจะไม่เสียเปล่า ซึ่งทุกคนต้องมีส่วนช่วยในการประหยัดน้ำแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
ด้านการเพาะปลูกกลุ่มบริหารการใช้น้ำคลองด้วนก็ให้ ความสำคัญเช่นกัน จะเน้นการปลูกข้าว อ้อย มะม่วง และ มะนาวเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ในบางปีที่มีน้ำต้นทุนน้อยเกษตกรที่นี่ก็จะมีความเห็นอกเห็นใจแก่ส่วนรวมสูง ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากที่สมัยก่อนเคยประสบปัญหาภัยแล้งจนถึงขั้นต้องแย่งชิงน้ำกัน ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของน้ำ เมื่อพบปัญหาก็มีการพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ชลประทานหรือเจ้าหน้าที่การเกษตรอยู่ตลอด เพื่อปรึกษาการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เป็นวิธีประหยัดน้ำรูปแบบหนึ่ง บริหารจัดการน้ำในปีนั้นให้อยู่รอดไปจนถึงปีถัดไป
เหตุผลที่ทำให้ได้รับรางวัล
จากความมานะและเพียรพยายามของกลุ่มบริหารการ ใช้น้ำคลองด้วน ที่ไม่เคยย่อท้อต่อปัญหาภัยแล้ง กระทั่งพบ สูตรสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำ สามารถส่งน้ำที่มีอยู่จำกัดไปถึงทุกบ้าน ทุกแปลง ทุกไร่นาอย่างทั่วถึง ทำให้ ปีนี้พวกเขาได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับที่ 3 สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2565 ซึ่ง นายเกษมชัยให้ความเห็นของรางวัลดังกล่าวว่า
“ รางวัลที่ได้รับ ส่วนหนึ่งจากความสามัคคีกับการมีส่วนร่วมในการใช้น้ำให้เราสามารถมีน้ำใช้ตลอดทั้งปีนอกจากนี้เรายังเน้นเรื่องการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปราศจากสารเคมี ประสานไปกับการทำนาแห้งสลับเปียก รวมถึงมีการเปิดรับองค์ความรู้สมัยใหม่เข้ามาใช้ เช่นการปรับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ทำให้หน้าดินมีความลาดเทสม่ำเสมอต่อเนื่องกันทั้งแปลง ให้พื้นที่เรียบเป็นแปลงใหญ่เมื่อพื้นเรียบจะทำให้ใช้น้ำน้อยลง และง่ายต่อการคำนวณตัวเลขการใช้น้ำ”
พิจารณาศาสตร์พระราชา เพื่อความยั่งยืน
ปัจจุบันกลุ่มบริหารการใช้น้ำคลองด้วนมีสมาชิก จำนวน 1,036 คน โดยเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนเกือบเท่าตัว มีพื้นที่การเกษตรรวม 16,000 ไร่ แต่กลับไม่ประส ปัญหาการแย่งชิงน้ำเช่นในอดีต นั่นเพราะพวกเขาเข้าใจถึงคุณค่าของน้ำ ทั้งนี้นายเกษมชัย ได้ให้ข้อคิดดีๆ ในเรื่องของการประหยัดน้ำว่า โลกหมุนทุกวัน เมื่อฤดูกาลเปลี่ยน ภัยแล้งก็เกิดขึ้นมา แต่ขอให้พิจารณาจากศาสตร์พระราชา ในเรื่องของการปลูกต้นไม้เพื่อซับน้ำ ให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งนี้ ขอให้ปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อความอยู่รอต และความยั่งยืนที่จะส่งไปถึงรุ่นลูกรุ่น หลานในอนาคต