บุคคลชลประทาน ฉบับนี้จะพาไปรู้จักกับชีวิตและเส้นทางการทำงานของ “นายกฤษฎา คุณะกูล” วิศวกรโยธาปฏิบัติการสำนักวิจัยและพัฒนา ข้าราชการหนุ่มไฟแรงผู้ถือคติว่า“จะตั้งใจทำงานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถ” เขามีผลงานด้านการวิจัยมากมาย จนได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2564 ที่ผ่านมา
อดีต…ที่คิดถึง
กฤษฎา เล่าว่า พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ศึกษาจบชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2553
“หลังจากที่ผมจบปริญญาตรี ผมยังไม่ได้เข้ารับราชการที่กรมชลประทาน แต่เริ่มทำงานที่บริษัทก่อสร้างทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้ประมาณ 4 ปี จึงขอลาออกมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ประเทศไทย”
กรมชลประทานเป็นสถานที่ที่อบอุ่น
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากจะรับราชการ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อเห็นด้วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอดีตท่านเคยเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่สำนักงานชลประทานที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก กรมชลประทาน
“ท่านแนะนำให้ผมมาสอบที่กรมชลประทาน คุณพ่อบอกว่ากรมชลประทานเป็นสถานที่ที่อบอุ่น ซึ่งในอดีตท่านก็อยากจะเป็นข้าราชการที่นี่ แต่การแข่งขันสอบเข้านั้นสูง ท่านจึงเป็นได้แค่ลูกจ้างชั่วคราว เมื่อผมสอบติดที่นี่ท่านจึงดีใจมาก”
Physical Model
พ.ศ. 2559 กฤษฎา ได้บรรจุเป็นข้าราชการกรมชลประทาน ตำแหน่งวิศวกรโยธาปฏิบัติการ สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนา
“ในตำแหน่งนี้ ผมต้องทำงานด้าน Physical Modelเป็นโมเดลแบบจำลองทางกายภาพ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนในการจำลองพฤติกรรมของโครงสร้างทางชลศาสตร์ เช่นแบบจำลองอาคารชลประทาน ฝาย คลองส่งน้ำเป็นต้นเพื่อทดลองการไหลของน้ำตรวจสอบโดยใช้ความละเอียดรอบคอบก่อนที่เราจะก่อสร้างจริง เพื่อให้ดำเนินโครงการก่อสร้างจริงได้อย่างราบรื่น”
ได้รับโอกาสและทีมงานที่ดี
จนถึง พ.ศ. 2565 รวมระยะเวลาของการทำงานในชีวิตกรมชลประทานมา 6 ปี แม้จะเป็นตัวเลขของอายุราชการที่ยังไม่มาก แต่กลับได้รับโอกาสจากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมทีมอยู่เสมอ ทำให้มีผลงานดีเด่นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ การเป็นผู้ร่วมวิจัยโครงการจัดทำแบบจำลองทางกายภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจุดบรรจบปลายคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรและแม่น้ำน้อย (พ.ศ. 2561) ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถบรรเทาอุทกภัยตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได
ผลงานต่อมา เป็นโครงการทุ่นยางพาราดักผักตบชวา กฤษฎา เล่าว่า ได้เป็นผู้ร่วมวิจัยจนกระทั่งโครงการสำเร็จ โครงการดังกล่าวมีประโยชน์ในแง่ของการควบคุมพื้นที่ระบาดของผักตบชวาและง่ายต่อการที่จะกำจัด เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำซึ่งล่าสุดสำนักงานชลประทานที่ 1-17 ทั่วประเทศได้นำทุ่นยางพาราดักผักตบชวาไปใช้มากกว่า 10,404 ทุ่น ที่สำคัญโครงการดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอีกด้วย
ทำตัวไม่ถูก
คนหนุ่มไฟแรงอย่างกฤษฎา ถือคติว่า “จะตั้งใจทำงานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถ” ซึ่งหัวหน้างานและผู้บริหารกรมชลประทานก็รับรู้ได้เช่นกัน สิ่งนี้ได้ทำให้ในปี 2564 เขาได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ระดับประเทศ แม้จะเพิ่งอายุได้ 34 ปี เท่านั้น
“ในเรื่องงาน ผมไม่เคยเกี่ยงงาน และเข้ากับเพื่อนร่วมงานทุกคนได้ดี จะไม่ทำงานด้วยความเครียด แต่ทำงานด้วยความสนุกมากกว่า ส่วนเรื่องที่ได้รับรางวัล ผมมองว่าด้วยตัวคนเดียว เราทำไม่ได้หรอก ส่วนหนึ่งก็มาจากทีมงานที่มี คุณภาพด้วยเช่นกัน ส่วนในวันที่ทราบผลต้องขอบอกเลยว่าผมรู้สึกทำตัวไม่ถูก เป็นความดีใจที่มาเพียงครู่เดียว แต่รู้สึกเกร็งมากกว่า หลังจากนั้นผมก็เข้าไปพบท่านอาจารย์กัญญา อินทร์เกลี้ยงวิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมการบริหารจัดการน้ำบุคคลที่ผมเคารพมาก ปรึกษาว่าจะทำงานอะไรต่อ และจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร ท่านก็แนะนำว่า การปฏิบัติงานนั้นต้องมองภาพรวมให้รอบด้านตามแผนยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ และพันธกิจ ของกรมชลประทานแล้วเราจะรู้ว่าต้องเดินไปอย่างไรต่อไปในอนาคต”
ปัจจุบัน…กับหมวกอีกใบ
ในวันนี้ นอกจากจะเป็นข้าราชการน้ำดีของกรมชลประทานแล้ว กฤษฎายังมีหมวกอีกใบเป็นอาจารย์พิเศษในวิทยาลัยการชลประทาน มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นิสิต เขาเองก็มีความสุขในจุดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เขายังต้องการที่จะมีความรู้ในระดับที่สูงขึ้น
“ผมมีความต้องการว่าในอนาคตจะหาโอกาสศึกษาต่อและหาความรู้ให้ทันโลกอยู่เสมอ เพื่อที่จะมีความรู้ที่มากขึ้นในการนำมาถ่ายทอดให้นิสิต ทุกวันนี้รู้สึกว่าตัวเองยังไม่เก่ง”
อนาคต…น้ำยังไม่เต็มแก้ว
ในด้านของการพัฒนาตนเองนั้น กฤษฎามองตนเองว่าเขาไม่เคยเป็นน้ำเต็มแก้วเลย เพราะตระหนักอยู่เสมอว่าชีวิตต้องเรียนรู้มากยิ่งขึ้นในทุกวัน ทั้งเรียนรู้จากการอ่าน เรียนรู้จากการบอกเล่าจากคนอื่น แต่จะดีที่สุดต้องลงมือทำอย่ากลัวที่จะลงมือทำสิ่งที่ทำอาจไม่มีคำว่า Perfect ทุกอย่างมีข้อผิดพลาดกันได้ แต่อย่างน้อยเราต้องได้ลองแค่เราตั้งใจเดี๋ยวงานชิ้นนั้นจะออกมาดีเอง ในแบบที่กฤษฎาแนะนำ