ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ชี้ช่องรวย แนะ 10 หลักการที่ควรรู้ ก่อน “ตั้งชื่อบริษัท” ให้เหมาะสม


     เรื่องน่ากลุ้มใจอีกเรื่องหนึ่งในการเริ่มต้นทำธุรกิจคือ “การตั้งชื่อบริษัท” การตั้งชื่อบริษัทที่เหมาะสมกับธุรกิจนั้น จะช่วยให้คุณดูแตกต่างจากคู่แข่ง และยังสร้างภาพพจน์ที่ให้กับบริษัทอีกด้วย ถึงแม้ชื่อบริษัทอาจจะไม่ได้มีผลโดยตรงกับการทำงานของบริษัทหรือลดยอดขายของคุณลง แต่ก็ควรพิจารณา หลักการต่อไปนี้ เมื่อเริ่มคิดจะตั้งชื่อบริษัท เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่งจริงเสมอ
     
     1. ให้ความสำคัญกับชื่อ

      การตั้งชื่อบริษัทหรือสินค้านั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันจะเป็นชื่อที่คุณจะต้องใช้ในการทำการตลาดด้วย ชื่อบริษัทมีผลต่อภาพลักษณ์และจุดยืนในตลาด ดังนั้นอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ       
     2. หลีกเลี่ยงการเล่นคำในชื่อ

     การเล่นคำมากไปหรือใช้คำแผลงๆ อาจจะทำให้ลูกค้าจำยาก การใช้คำที่ผวนได้จะส่งผลต่อศีลธรรมอันดีงาม และอาจโดนวิพากษ์วิจารณ์ได้     
     3. ใช้อักษรย่อก็สะดวกดี

     ไม่จำเป็นต้องเป็น CP การใช้ตัวอักษรย่อชื่อบริษัทอาจจะทำให้การโฆษณาหรือสื่อสารง่ายขึ้น แต่นักธุรกิจขนาดเล็กคงไม่มีกำลังทั้งกายและเงินมากพอที่จะคอยบอกกลุ่มเป้าหมายว่า ชื่อบริษัทนี้มีความหมายอย่างไร ดังนั้นให้ใช้ชื่อเต็มที่ไม่ต้องยาวนักจะดีกว่า       
      4. เน้นจุดเด่น

      คุณสามารถตั้งชื่อให้เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของคุณที่คิดว่าเด่นเป็นจุดขายให้บริษัท คิดง่ายๆ ว่า “บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเฉพาะเท่านั้น ที่ลูกค้าต้องการ”      
      5. ห่างคุกไว้เป็นดีกว่า

      คุณไม่ควรใช้ชื่อให้ใกล้เคียงบริษัทที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว อีกทั้งชื่อที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีของนาย Victor Moseley ที่เมืองอลิซาเบท รัฐเคนตักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้ชื่อ Victor’s Secret  เป็นชื่อร้านขายของขวัญสำหรับผู้ใหญ่และชุดชั้นในสตรี เมื่อฝ่ายกฎหมายของ Victoria’s Secret (ร้านชุดชั้นในสตรีชื่อดังของสหรัฐฯ) พบเข้าจึงได้ยื่นหนังสือฟ้องร้านของนายวิคเตอร์ในข้อหาละเมิดชื่อบริษัท แม้เขาจะรีบเปลี่ยนชื่อเป็น Victor’s Little Secret ก็ยังโดน Victoria’s Secret ฟ้องอยู่ดี
      6. มองการณ์ไกล

      ธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่งคิดว่าจะดำเนินธุรกิจแต่เพียงในอำเภอเมืองหรือจังหวัดเท่านั้น แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าชื่อบริษัทจะต้องจำกัดด้วยสถานที่ที่คุณตั้งบริษัทเท่านั้น เพราะคุณอาจขยายกิจการไปจังหวัดอื่น หรือทั่วประเทศเลยก็ได้ 
      7. หลีกเลี่ยงชื่อตัวเอง

      เจ้าของบริษัทหลายท่านมักจะใช้ชื่อตัวเองตั้งเป็นชื่อร้าน ตัวอย่างคือร้านทองต่างๆ ที่แสนจะจำยากเย็น ข้อเสียคือหากคุณวางแผนจะขายกิจการในอนาคต ชื่อร้านที่เป็นตัวบุคคลเช่นนี้ไม่ดึงดูดใจผู้ซื้อเลยเมื่อเทียบกับบริษัทที่สร้างชื่อจากสินค้าหรือบริการ     
      8. ให้คนอื่นช่วยอ่านออกเสียง

     หากอยากใช้ชื่อบริษัทที่แปลกๆ หรือใช้ภาษาท้องถิ่น ลองให้คนอื่นอ่านออกเสียงดูว่า เขาได้อ่านง่ายหรือออกเสียงถูกหรือไม่
     9. ใช้ชื่อที่ขึ้นเว็บง่าย

     ผู้บริโภคนั้นโดนกรอกหูกรอกตาด้วยชื่อบริษัทร้านค้าทุกวันอยู่แล้ว งานของคุณคือต้องเลือกชื่อที่ผู้บริโภคจะจำได้ง่าย ชื่อเว็บไซท์ควรเป็นชื่อเดียวกับบริษัทและพยายามอย่าขีดเส้นระหว่างคำ เพราะมันจำยาก       
      10. ตรวจดูว่าไม่ใช้ชื่อซ้ำ

      จะตั้งชื่อบริษัทให้ดีทั้งทีควรใช้เวลาสำรวจดูว่าไม่มีคนอื่นใช้ก่อนอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมีก็อาจะปรับชื่อให้คล้ายๆ กันหากว่าไม่ใช่ธุรกิจที่คล้ายกัน คุณสามารถค้นหาและจองชื่อนิติบุคคล ได้ที่เว็บไซท์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th