นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) เปิดเผยแนวทางความร่วมมือกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันการรับรองประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ ความสามารถกำลังแรงงานด้วยมาตรฐานอาชีพ และนำไปสู่การรับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ว่าล่าสุดบริษัทออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (AAT) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ฟอร์ด และมาสด้า เป็นอีกหนึ่งสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ให้การยอมรับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ โดยพร้อมพิจารณารับผู้ที่ผ่านการทดสอบ หรือประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ และได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพเข้าทำงาน หรือพิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ที่สำคัญ AAT ได้ร่วมกับ สคช. ในการฝึกอบรมอาชีพเสริมให้กับพนักงานในบริษัท เพื่อเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพทางเลือกในอนาคต เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤติภัยคุกคามอะไรอีกบ้าง ซึ่งนับว่า AAT เป็นบริษัทนำร่องที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR ให้กับพนักงานของตัวเอง ไม่เพียงเป็นการสร้างคุณค่า ประโยชน์ให้ตัวบุคคลคือพนักงาน แต่ยังเกิดประโยชน์ต่อองค์กรในการได้รับกำลังแรงงานคุณภาพเข้าทำงานด้วย และไม่เพียงกลุ่ม AAT
ขณะที่กลุ่มบริษัทวังขนาย เป็นหนึ่งในสถานประกอบการชั้นนำในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ซึ่งทำงานร่วมกับ สคช. จะเข้ามาร่วมเป็นต้นแบบสถานประกอบการที่มีการส่งเสริมให้พนักงาน ได้เห็นความสำคัญของระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของพนักงานให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสความก้าวหน้าในตำแหน่งและรายได้
กลุ่มบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักในด้านการลงทุนการประกอบกิจการโรงแรม ภัตตาคาร อาหารและเครื่องดื่ม การจัดจำหน่ายและผลิตสินค้า อาทิ SWENSENS, Pizza Company, Marriott, Four Seasons, bossini เป็นต้น ครอบคลุมกับสถานประกอบการในเครือข่ายประเภทโรงแรมที่พัก 520 แห่ง ร้านอาหารมากกว่า 2,410 สาขา มีบุคลากรมากกว่า 20,000 คนนั้น การพูดคุยหารือร่วมกัน กลุ่ม MINOR มองเห็นประโยชน์ในการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้ในการบริหารงานบุคคล ทั้งการคัดเลือกคนเข้าทำงาน การพัฒนาพนักงานในสายอาชีพต่างๆ ในเครือ การกำหนดค่าตอบแทน และความก้าวหน้าในสายงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพร้อมยอมรับคุณค่าของประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพในการพัฒนาในกลุ่มของ MINOR โดยกลุ่ม MINOR ยังให้ความสนใจเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ที่พร้อมให้การรับรองคนในองค์กร และเปิดสาธารณะเพื่อให้คนนอกองค์กรสามารถเข้าทดสอบ ประเมินสมรรถนะของตัวเองได้ด้วยในอนาคต ซึ่งจะได้มีการหารือกับ สคช. ถึงแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายสุรพล ยังกล่าวว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เองมีแนวทางในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล โดยสามารถใช้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ แทนการใช้คะแนน TOEIC 450 คะแนน ในการสมัครงาน ฝ่ายครัวการบิน และยังมีการนำ TPQI E-Training & Hybrid Training ในการอบรมพนักงานตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อผลักดันให้บุคลากรในองค์กรได้รับการพัฒนาสู่ความก้าวหน้าในตำแหน่งงานด้วย
“หากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ให้การส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรของตนเองให้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาฝึกอบรมและการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพของบุคลากร สร้างวัฒนธรรม และค่านิยมใหม่ในสังคมด้วยการนำคุณค่าของประสบการณ์และทักษะการทำงาน เข้าสู่กระบวนการรับรองและให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ก็จะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาทุนมนุษย์และยกระดับศักยภาพกำลังแรงงานให้มีความพร้อมรับทุกวิกฤติภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ และ สคช.จะใช้โมเดลเดียวกันนี้ในการทำงานร่วมกับสถานประกอบการต่อไป” นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าว
ด้านนายสถิรยุทธ แสงสุวรรณ รองประธานบริษัทฯ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล AAT กล่าวว่าที่ผ่านมาการรับบุคลากรจะยึดโยงกับวุฒิการศึกษาเป็นหลัก โดยเฉพาะตำแหน่งเฉพาะอย่างวิศวกร แต่ในการทำงานจริงมีผู้ปฏิบัติหลายคนอาศัยทักษะ ความชำนาญเฉพาะด้าน และประสบการณ์จากการทำงาน กลายเป็นนักคิดค้นพัฒนานวัตกรรมสามารถนำมาใช้ในสถานประกอบการได้จริง การรับรองประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ ความสามารถให้กับผู้ปฏิบัติเหล่านี้เท่ากับเป็นเครื่องยืนยันประสิทธิภาพการทำงาน เป็นการรองรับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ และเป็นโอกาสให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ยอมรับว่าปัจจุบันการศึกษาก็ยังนับเป็นใบเบิกทางที่จะนำไปสู่การเพิ่มทักษะ เพิ่มตำแหน่งงาน แต่ในอนาคตประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้พนักงานอยากเรียนรู้ นำมาซึ่งโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ มีช่องทางในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงานของตัวเอง และน่าจะได้เห็นเอกสารประกอบการสมัครงานที่แนบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งเทียบเท่ากับระดับปริญญามาสมัครงานกันมากขึ้นก็เป็นได้