โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ชี้ช่องรวย แนะอาชีพเสริม “เลี้ยงปูนา” สัตว์เศรษฐกิจสร้างรายได้กำไรงาม

ปัจจุบัน "ปูนา" ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีผู้หันมาบริโภคมากขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสหรือช่องทางสร้างรายได้โดยการเพาะเลี้ยงปูนาขาข วันนี้ ชี้ช่องรวยจึงอยากจะมาแนะนำวิธีการเลี้ยงให้ได้ทราบกันว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

ปูนา เป็นสัตว์น้ำที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูส้มตำ เมนูที่ใครๆต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดี ถ้าหากไม่ใส่ปูลงไป รับรองรสชาติไม่อร่อยแน่นอน ปัจจุบันการเลี้ยงปูนาสามารถเลี้ยงได้หลายช่องทาง โดยมีวิธีการเลี้ยงแบบ 2 วิธี ซึ่งจะมีวิธีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยดีกว่า

การเลี้ยงปูนา เพื่อสร้างรายได้
เริ่มจากการเตรียมบ่อขนาดกว้าง 2*3 เมตร ความสูงประมาณ 1 เมตร จากนั้นทำหลังคาสำหรับพื้นที่เลี้ยง ซึ่งบ่อที่ต้องเตรียมต้องเป็นบ่อซีเมนต์ โดยสามารถเตรียมได้ 2 วิธีคือ

วิธีที่ 1 แบบพื้นปูนหรือบ่อซีเมนต์

-ทำการเทปูนบริเวณด้านล่างของบ่อปูนซีเมนต์ จากนั้นใส่ท่อ PVC เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ หลังจากนั้นให้เติมน้ำลงไปในบ่อ โดยให้มีความสูงประมาณ 25 ถึง 30 เซนติเมตร

วิธีที่ 2 แบบพื้นดิน

-วิธีแบบพื้นดินเป็นวิธีสามารถช่วยลดต้นทุนได้ดี เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก และเป็นวิธีการเลี้ยงคล้ายๆกับธรรมชาติ ดังนี้

1.ปลูกพืชในบ่อ เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารให้กับปูนา อย่างเช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา

2.ให้ต่อหัวสปริงเกอร์ประมาณ 1 หัว เพื่อให้เหมือนน้ำจากธรรมชาติ โดยเปิดน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา

3.นำทางมะพร้าวมาวางในบ่อดิน เพื่อให้ปูนาใช้ในการหลบซ่อนในช่วงเวลากลางวัน

4.นำกะละมังพลาสติกมาใส่ให้เต็ม แล้วปล่อยให้ปูนาเดินเล่นตามธรรมชาติ

**วิธีนี้เป็นวิธีที่ลอกเลียนแบบพฤติกรรมทางธรรมชาติ

การปล่อยปูนาลงเลี้ยง

–หาปูนาได้จากธรรมชาติหรือซื้อมาก็ได้ จำนวน 1 กิโลกรัม

–อัตราส่วนปูตัวผู้และปูตัวเมียอย่างละเท่าๆกัน
การให้น้ำ

โดยจะใส่ในกะละมังพลาสติกวางตามจุดต่างๆภายในบ่อเลี้ยง และดินก้นบ่อจะต้องมีความชื้นอยู่เสมอ เพื่อเลียนแบบธรรมชาติให้ปูนาขุดรูเป็นที่อยู่อาศัยและหลบซ่อนตัวได้ง่าย

การให้อาหาร

ต้องให้อาหารที่เป็นอาหารของปลาดุก เป็นเมล็ดคลุกเคล้ากับข้าวสวยให้เข้ากัน จากนั้นนำไปหว่านให้ปูนาในช่วงเย็น เพราะปูนาจะออกมากินอาหารในช่วงกลางคืน และผู้เลี้ยงหมั่นดูแลบริเวณที่เลี้ยงปูนา ให้เก็บเศษอาหารที่ปูนากินไม่หมดออกมาจากบ่อ เพื่อไม่ให้เน่าเสียในบ่อเลี้ยง

ปูตัวเมีย

ปูนาจะผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม มีไข่ในท้องประมาณ 500-1,000 ฟอง ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ปูนาจะขุดรูเพื่อจำศีลและใช้เป็นที่หลบซ่อนตัวจากศัตรูธรรมชาติ เมื่อมีอาหารอุดมสมบรูณ์ ปูจะออกมากินอาหารอย่างสม่ำเสมอ และจะผสมพันธุ์อีกครั้งในช่วงต้นเดือนฤดูฝนในปีถัดไป
การจับปูตามธรรมชาติ

การจับปูนาตามธรรมชาติสำหรับนำมาประกอบอาหาร นิยมจับกันใน 2 ช่วง คือ

1.ช่วงน้ำหลากหลังการวางไข่
ถ้าหากจะจับปูนาเพื่อนำมาประกอบอาหาร ไม่ควรจับในช่วงว่างไข่ (พฤษภาคม-กรกฎาคม) โดยทั่วไปแล้วชาวนามักจับปูนามาใช้ประกอบอาหารในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และไม่นิยมรับประทานมากเท่าช่วงหลังเกี่ยวข้าว

วิธีการจับ

– การดักด้วยผ้าเขียวไนลอนในจุดน้ำไหล

– การช้อนด้วยผ้า

2.ช่วงหลังเกี่ยวข้าวหรือน้ำลด

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ (ปูจำศีล) เกษตรมักออกมาจับปูนามาประกอบอาหารกันมาก โดยเฉพาะหลังการเกี่ยวข้าวใหม่ๆเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เนื่องจากปูนาเติบโตเต็มที่ และมีไขมันมาก ทำให้มีรสชาติอร่อยมากกว่าช่วงอื่นๆ การจับปูนาในช่วงนี้จะเป็นช่วงน้ำลดหรือน้ำแห้ง ซึ่งปูนาจะขุดรูหลบเข้าจำศีล วิธีการจับที่ใช้ คือ การขุดด้วยเสียม เป็นหลัก

จะเห็นได้ว่า การเลี้ยงปูนาให้เหมือนเลี้ยงตามธรรมชาติ สามารถเลี้ยงได้ง่ายๆ แถมยังช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงได้ค่อนข้างมาก และถือว่าเป็นสัตว์น้ำที่สร้างผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ผู้เลี้ยงต้องหมั่นดูแลเรื่องความสะอาดในบ่อเป็นอย่างดี อย่าให้ในบ่อเหม็น