“กล้วยหอมทอง” ถือเป็นอีกหนึงพืชเศรษฐกิจที่ผู้คนให้ความสนใจนิยมบริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสชาติดี มีผลสวย วันนี้ ชี้ช่องรวยจึงอยากจะมาแนะนำวิธีการเพราะปลูก สำหรับใครที่มีพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์นำมาพื้นที่นั้นมาปลูกกล้วยสร้างรายได้กันดีกว่า
การเตรียมหน่อกล้วยหอมทองสำหรับปลูกให้มีอัตรารอดสูง
การคัดเลือกหน่อพันธุ์ปลูก :
เป็นสิ่งสำคัญต่อผลผลิตที่จะได้รับในอนาคตหน่อพันธุ์ที่อ่อนหรือแก่จนเกินไปจะทำให้กล้วยตกเครือไม่พร้อมกัน การเลือกหน่อพันธุ์ปลูก ควรเป็นหน่อใบแคบหรือหน่อดาบเป็นหน่ออ่อนที่มีใบอยู่ประมาณ 3-4 ใบ สังเกตุได้จากใบที่เรียวเล็ก หน่อลักษณะเช่น นี้มักจะเกิดอยู่กับโคนต้นเดิมและมีขนาดอวบสมบูรณ์เหมาะสำหรับที่จะเลือกไปเป็นหน่อพันธุ์ปลูกอย่างยิ่ง
วิธีการแยกหน่อกล้วย :
ขุดหน่อกล้วยโดยใช้ชะแลงเหล็ก ตัดหน่อให้แยกออกจากกอเดิมก่อนแล้วใช้จอบขุดให้รอบเพื่อให้รากขาด จากนั้นให้ใช้ชะแลงงัดหน่อกล้วยขึ้นมาวิธีนี้จะทำให้หน่อกล้วยที่ได้ไม่ช้ำและหลุดออกง่ายเมื่อขุดหน่อได้แล้วให้ใช้มีดคมๆ ปาดรากกล้วยที่ยาวออกให้เหลือรากติดเหง้ากล้วยประมาณ 1 นิ้วเป็นพอ
วิธีการปลูกกล้วยหอมทอง
ระยะปลูก : ใช้ระยะปลูก 3 x 3 เมตร จะปลูกกล้วยได้ 177 ต้นในพื้นที่ 1 ไร่
การเตรียมดินปลูก :
ดินที่จะปลูกกล้วยหอมทองจะร่วนซุย ควรไถด้วยผานเจ็ด 2 ครั้งหรือจะใช้รถไถเดินตามไถครั้งแรก แล้วตากหน้าดินไว้ 7-10 วัน เพื่อกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชที่ตกค้างอยู่ในดิน หากมีวัชพืชงอกขึ้นมาหลังจากนั้นให้ไถกลบอีกครั้งเพื่อเป็นการกำจัดวัชพืช ให้ลดน้อยลง ดินตรงไหนที่เป็นแอ่งควรปรับดินให้มีความลาดเทเพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมขังในช่วงหน้าฝน
ฤดูกาลปลูกที่เหมาะสม : ปกติกล้วยหอมทองจะปลูกได้ตลอดปี ถ้ามีน้ำ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกกันมากในช่วงต้นเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน
วิธีปลูกกล้วยหอมทอง :
- หลังจากวัดระยะปลูกและปักหลักเรียบร้อยแล้ว
- ขุดหลุมลึกประมาณ 50 ซม. หรือ1 ศอก กว้างประมาณ 1 ศอก
- นำหน่อกล้วยที่ตัดรากออกลงหลุม แล้วกลบดินเหยียบดินให้แน่น เมื่อกลบดินได้ครึ่งหลุม เพื่อไม่ให้ต้นกล้วยโยกคลอนหลังจากนั้นกลบดินให้เต็มหลุมแต่ไม่ต้องกดดิน
- นำเศษพืชมาคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้น
การดูแลรักษากล้วยหอมทองให้ได้ผลผลิตดี
การตัดใบกล้วยหลังจากปลูก :
ถ้าเป็นหน่อใบแคบหลังจากปลูกแล้วไม่จำเป็นต้องตัดใบทิ้งแต่ถ้าเป็นหน่อที่เคยปาดเฉียงมาก่อนควรจะมีการปาดเฉียงลำต้นใหม่เพื่อที่กล้วยจะได้แตกใบใหม่ที่แข็งแรงขึ้น
การกำจัดวัชพืชในแปลงกล้วย :
ถ้ามีการตัดหญ้าและพรวนดินในแปลงกล้วยตลอดเวลาจะทำให้ได้กล้วยเครือใหญ่ และจำนวนหวีมากขึ้น
การให้ปุ๋ยกล้วยหอมทอง : ควรให้ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีควบคู่กันไปทั้งสองอย่างปริมาณจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของดินสำหรับปุ๋ยเคมีสูตรที่เหมาะสมสำหรับกล้วยหอมทองคือ 21-0-0 จำนวน ใช้ในอัตรา 50 กก.ต่อไร่ หรือจะใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ในอัตรา 50 กก.ต่อไร่โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง
การให้น้ำกล้วยหอมทอง : การให้น้ำกล้วยหอมทองจะให้แค่พอชุ่ม ในช่วงที่ปลูกใหม่ ๆและขณะที่กล้วยหอมตั้งตัวและกำลังติดปลี ติดผลดีแล้วไม่จำเป็นต้องให้น้ำเป็นประจำทุกวันเหมือนพืชอื่น
การตัดแต่งหน่อและใบกล้วยหอมทอง :
- การแต่งหน่อกล้วยหากปลูกกล้วยต้นเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายนประมาณเดือนมิถุนายนกล้วยจะแตกหน่อตามขึ้นมาประมาณ 4-7 หน่อต่อกอเมื่อหน่อตามมีใบคลี่แล้ว ควรทำการปาดยอดทิ้ง โดยปาดในแนวเฉียงขึ้นกะความยาวของหน่อที่จะเหลือไว้หลังจากปาดให้สูงจากพื้นดินขึ้นมาประมาณ 20 นิ้วจากนั้นทำการปาดหน่อให้เฉียงกลับด้าน(ทิศตรงข้ามกับการปาดครั้งแรก) ทุกๆ 15 วันจะทำให้โคนหน่อกล้วยขยายใหญ่ขึ้นเหมาะที่จะนำไปปลูก
- การตัดแต่งใบกล้วยขณะที่มีการแต่งหน่อ ควรทำการตัดแต่งใบกล้วยควบคู่ไปด้วยและควรตัดแต่งใบกล้วยไปจนกว่ากล้วยจะตกเครือ การตัดให้เหลือใบกล้วยไว้กับต้น 10-20 ใบต่อต้น ตัดด้วยมีดขอให้ชิดต้นกล้วยอย่าให้เหลือก้านกล้วยยื่นยาวออกมาเพราะส่วนที่เหลือยื่นยาวไว้นั้นจะเหี่ยวแล้วรัดลำต้นทำให้ลำต้นส่วนกลางขยายได้ไม่มากเท่าที่ควร
ระยะเวลาในการให้ผลผลิตของกล้วยหอมทอง
ประมาณ 10 เดือนหลังปลูก : กล้วยจะเริ่มแทงปลีออกมา *การที่กล้วยจะออกปลีช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของหน่อกล้วยว่ามีความแข็งแรงสมบูรณ์ดีหรือไม่ รวมทั้งการดูแลรักษาเมื่อกล้วยแทงปลีจนสุด(กล้วยหวีตีนเต่าโผล่กล้วยตีนเต่าหมายถึงกล้วยหวีสุดท้ายที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์) ให้ตัดปลีทิ้ง หรือจะตัดปลีหลังจากปลีโผล่มาประมาณ 10-12 วันถ้าไม่มีการตัดปลีกล้วยทิ้งผลกล้วยจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่
หลังจากตัดปลีประมาณ 90-110 วัน : กล้วยจะแก่พอดี สามารถสังเกตได้จากกล้วย หวีสุดท้ายจะเริ่มกลมสีที่ผลจางลงกว่าเดิม(สีเขียวอ่อน)ถ้าปล่อยให้กล้วยแก่คาต้นมากเกินไปจะสบกับปํญหาเรื่องเปลือกกล้วยที่แตกทำให้ผลผลิตเสียหาย
การตัดหน่อกล้วยสำหรับเลี้ยงไว้ในปีต่อไป
หน่อกล้วยที่สมควรจะคัดไว้เป็นหน่อที่ให้ผลผลิตในปีต่อไปควรจะคัดหน่อกล้วยที่มีลักษณะ ดังนี้
- ควรเป็นหน่อใต้ดิน ลำต้นอวบอยู่ห่างจากโคนต้นแม่ประมาณ 10 นิ้ว
- ควรเหลือไว้ประมาณ 2 หน่อ ที่อยู่ตรงข้ามกัน
- ถ้าใช้ระยะปลูก 3 x 3 เมตร ควรคัดหน่อกล้วยอีกครั้งหนึ่งจาก 2 หน่อ ให้เหลือเพียงหน่อเดียวหรือเหลือไว้ไม่เกิน 2 หน่อ ซึ่งจะทำให้แปลงกล้วยทึบลำต้นจะสูงชะลูดและหักล้มได้ง่าย
ต้นทุนการปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารเคมี พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 177 หน่อ
- ค่าเตรียมดิน 3,000 บาท
- ค่าหน่อพันธุ์ 2,124 บาท
- ค่าแรงปลูก 2,000 บาท
- ค่าน้ำมันตัดหญ้า (8 ครั้ง) 750 บาท
- ค่าปุ๋ยคอก 2,400 บาท
- ค่าปุ๋ยเคมี 3,000 บาท
- ค่าตัดหญ้า 1,920 บาท
รวมต้นทุน 15,194 บาท (หมายเหตุ ต้นทุนอาจจะเพิ่มขึ้น ณ ราคาต้นทุนปัจจุบัน)
ผลผลิต/รายได้ กล้วยหอมทองพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 177 หน่อ จะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 80-90% (ขึ้นอยู่กับการดูแล) รายได้เฉลี่ย/เครือประมาณ 180-200 บาท