ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

รู้จักสารพิษอันตราย “ไซยาไนด์” cyanide สารเคมีอันตรายที่ทำให้ถึงชีวิตได้ในเวลาไม่กี่นาที


ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาหลายคนคงทราบข่าวกันแล้วว่ามีการนำสารเคมีอันตรายร้ายแรงมาใช้ในการฆ่าชีวิตผู้อื่น นั่นคือ “ไซยาไนด์” cyanide วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากให้ทุกคนมาทำความรู้จักกับสารพิษชนิดนี้ว่ามันคืออไร มีโ?ษมากแค่ไหร สามารถป้องกันได้อย่างไร

สารกลุ่ม “ ไซยาไนด์ “ ที่ควรรู้จักมี 2 ตัวคือตัวหนึ่งเป็นของแข็ง เกลือไซยาไนด์ ซึ่งเป็นโซเดียมไซยาไนด์ หรือ โปรแตสเซียม ไซยาไนด์ ส่วนอีกตัวหนึ่งมีสถานะเป็นก๊าซคือ ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา เมื่อเอากรด เช่นกรดเกลือ หรือกรดกำมะถัน ผสมกับเกลือไซยาไนด์

ประการสำคัญคือพิษต่อร่างกายไม่ว่าจะเป็นเกลือไซยาไนด์ หรือก๊าซเป็นอันตรายถึงตายได้เหมือนกัน ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ จึงถูกใช้ในการประหารนักโทษระหว่างสงคราม หลายคนอาจจะเคยเห็นในหนังสงคราม มีการใช้ก๊าซตัวนี้พ่นรมศัตรูล้มตายเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามถ้าพูดถึงประโยชน์ก็มี เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตไนล่อน โดยเฉพาะยาฆ่าแมลง ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และมักจะมีการใช้อย่างขาดความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย

นอกจากนั้นยังใช้เพื่อสังเคราะห์สารเคมีอื่น ๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ขณะที่ในเหมืองทองมีการใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการสกัดทอง เป็นต้น เกลือไซยาไนด์ละลายน้ำได้ดี ส่วนก๊าซนั้นก็ละลายในน้ำได้ดีเช่นกัน ไวต่อปฏิกิริยากับตัวออกซิไดซ์ อาจระเบิดได้เมื่อถูกความร้อนหรือเปลวไฟ

สำหรับชื่ออื่นของก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ ที่ใช้เรียกกันก็มี กรดไฮโดรไซยาไนด์ และ กรด ปรัสซิก เป็นต้น

อันตรายของไซยาไนด์

ไซยาไนด์สามารถฆ่าคนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้จากหลายเส้นทาง ทั้งการสูดก๊าซไซยาไนด์เข้าไป การกินไซยาไนด์ทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ หรือแม้แต่การสัมผัสกับสาร ไซยาไนด์ หากกินไซยาไนด์เข้าไปขณะท้องว่างจะใช้เวลาออกฤทธิ์เป็นหน่วยนาที

แต่ถ้ามีอาหารอยู่เต็มกระเพาะแล้ว จะหน่วงเวลาเสียชีวิตเป็นหน่วยชั่วโมงแทน เพราะในกระเพาะเรามีกรดที่ใช้ในการย่อยอาหารอยู่ การกินเกลือไซยาไนด์เข้าไปขณะท้องว่าง ไซยาไนด์จะทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะ เป็นก๊าซไซยาไนด์อยู่ในกระเพาะอาหารและออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าสูดไฮโดรเจนไซยาไนด์เข้าไปจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วินาที

ความเข้มข้นของไซยาไนด์ก็มีผลกับความเร็วมาก ถ้าจับคนล็อกไว้ในห้องก๊าซขนาด 1x1x1 เมตร แล้วปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์เข้าไปประมาณ 300 มิลลิกรัม เขาจะเสียชีวิตในทันที แต่ถ้าปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์ 150 มิลลิกรัมเข้าไป เขาจะมีเวลาอีกประมาณ 30 นาทีก่อนเสียชีวิต แต่ถ้าปล่อยก๊าซเข้าไปเพียง 20 มิลลิกรัม เขาจะยังไม่เสียชีวิต เพียงแต่จะมีอาการผิดปกติเล็กน้อยหลังจากนั้น

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสารพิษ ไซยาไนด์

  • อาการเฉียบพลัน ทางเข้าสู่ร่างกายนั้น สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางการหายใจ ทางการกินและซึมผ่านผิวหนัง หากได้รับเข้าไปปริมาณมากจะมีฤทธิ์ยับยั้งการหายใจในระดับเซลล์ ทำให้เซลล์เสียชีวิตได้
  • อาการระยะยาว การสัมผัสสาร thiocyanate ในระยะยาว อาจก่อให้เกิดพิษเรื้อรังได้ มีอาการแขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะ และโรคของต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีรายงานในคนงานโรงงานแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และคนงานขัดเครื่องเงิน

อาการไม่รุนแรง

  • กล้ามเนื้อล้า แขนขารู้สึกหนัก
  • หายใจลำบาก
  • ปวดหัว รู้สึกมึน ๆ วิงเวียน
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ลมหายใจมีกลิ่นอัลมอนด์จาง ๆ
  • รู้สึกระคายเคืองคัน ๆ ที่จมูก คอ ปาก

อาการรุนแรง

  • คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรงกว่า
  • หายใจลำบาก
  • ชักหมดสติ
  • เสียชีวิต

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับไซยาไนด์

  • ได้รับทางการหายใจ: ควรให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจน และอากาศบริสุทธิ์ ห้ามผายปอดด้วยวิธีปากต่อปาก และรีบส่งตัวผู้ป่วยให้แพทย์ทันที
  • ได้รับผ่านทางผิวหนัง: ก่อนทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยต้องสวมถุงมือป้องกัน จากนั้นให้ถอดเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่เปื้อนไซยาไนด์ออก ล้างผิวหนังด้วยน้ำจำนวนมาก แล้วนำส่งแพทย์ทันที
  • ได้รับทางดวงตา: ขั้นตอนแรกให้รีบล้างไซยาไนด์ออกด้วยน้ำจำนวนมากเป็นเวลาหลายนาที หากใส่คอนแทคเลนส์ให้ถอดออก แล้วรีบส่งตัวให้แพทย์ทันที
  • ได้รับทางปาก: ให้รีบล้างปาก และให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย แต่ห้ามผายปอดด้วยวิธีปากต่อปาก และห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียน จากนั้นรีบส่งแพทย์ทันที

สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อพบผู้ป่วยที่ได้รับพิษของไซยาไนด์ไม่ว่าจะทางใดก็ตามคือการรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะหากได้รับในปริมาณมากจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว