ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

EXIM BANK สานพลังไอแบงก์ ผลักดันไทยเป็นครัวโลกอาหาร Halal


ประเทศไทยได้รับการขนานนามเป็น ‘ครัวโลก’ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลทางการเกษตรจากความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งในแถบเส้นศูนย์สูตรที่สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเอื้อให้ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ประกอบกับบรรพบุรุษสั่งสมองค์ความรู้ด้านอาหารและสมุนไพรมาช้านาน ทำให้เมนูอาหารไทยเป็นเอกลักษณ์และหลากหลายให้เลือกรับประทานได้ตามความชื่นชอบของแต่ละบุคคล นอกจากความอร่อยและประณีตแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย อาหารไทยจึงได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกจากการจัดอันดับของหลากหลายสถาบันทั่วโลก สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจอาหารจนเติบโตทั้งภายในและต่างประเทศ

 

 

หนึ่งใน Niche Market ด้านสินค้าอาหาร คือ อาหารฮาลาล (Halal) ซึ่งหมายถึง อาหารที่ถูกต้องตามกฎศาสนาอิสลาม โดยตลาดอาหาร Halal เป็นหนึ่งในตลาดที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพจะขยายส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตลาดดังกล่าวมีอัตราการเติบโตสูง ประชากรชาวมุสลิมมีอยู่จำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก การระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนให้ความสนใจกับสุขอนามัยในการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย มีมาตรฐาน และตรวจสอบที่มาได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ตลาดอาหาร Halal ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในกลุ่มประเทศมุสลิมและนอกกลุ่มประเทศมุสลิมด้วยเช่นกัน

 

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า EXIM BANK และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้เล็งเห็นโอกาสในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยจึงร่วมกันจัด “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้า Halal สู่การส่งออก” เพื่อสนับสนุนด้านความรู้ โอกาสทางการตลาด และเงินทุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยสามารถพัฒนาสินค้าอาหาร Halal สู่ตลาดโลกได้ตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการรุกตลาดใหม่ (New Frontiers) และตลาดการค้าออนไลน์ทางแพลตฟอร์ม E-Commerce ระดับโลก พร้อมทั้งจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของสินค้าไทยในตลาด Halal ความรู้เกี่ยวกับเครื่องหมาย Halal รวมทั้งการเจาะตลาดกลุ่มลูกค้ามุสลิมผ่านทุกช่องทางการตลาด

“นอกจากขนาดของประชากรที่ใหญ่เป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งโลกแล้ว พี่น้องมุสลิมในกลุ่มประเทศเอเชียใต้และตะวันออกกลางบางประเทศหรือแม้กระทั่งในอาเซียนเองมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4-5% สูงกว่ากลุ่มประเทศตลาดหลักที่เติบโตเพียง 1% กว่า ๆ ยิ่งไปกว่านั้น พี่น้องมุสลิมยังมีกำลังซื้อสูง ไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบียที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ราว 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ กาตาร์ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับไทยที่ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ เรียกได้ว่าใหญ่กว่าไทยถึง 3-10 เท่า ถ้าเราเข้าใจวิถีการใช้ชีวิตของพี่น้องมุสลิม เราจะได้มิตรแท้ดูแลกันไปตลอดชีวิต ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และไอแบงก์ในครั้งนี้จะเติมเต็มซึ่งกันและกัน ช่วยส่งเสริมให้การเดินทางไปสู่โลกกว้างที่เรียกว่า New Frontiers ของนักรบเศรษฐกิจไทยตัวเล็ก ๆ ที่เป็นพี่น้องมุสลิมและ SMEs ไทยมีความมั่นใจและมั่นคงมากยิ่งขึ้น” ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ไอแบงก์ กล่าวว่า ความร่วมมือของ 2 องค์กรในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการที่สนใจบุกตลาดต่างประเทศด้วยสินค้า Halal กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ได้รับเครื่องหมาย Halal รับรองสินค้าอยู่แล้วและต้องการพัฒนาศักยภาพในการส่งออก อีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ยังไม่ได้ขอเครื่องหมายรับรอง ไอแบงก์พร้อมทำหน้าที่ให้คำแนะนำ สนับสนุนด้านการเงิน อำนวยความสะดวกด้านกระบวนการขออนุญาตตรา Halal ต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านเงื่อนไข ขณะที่ EXIM BANK จะเติมเต็มความรู้ด้านตลาดและการส่งออก ผู้สนใจเข้าร่วมต้องมีแผนธุรกิจและสินค้าที่จะทำตลาด หรือทำธุรกิจมาแล้วระดับหนึ่ง ทั้งนี้ หากมีผู้สนใจจำนวนมากและเกิดประสิทธิผล อาจจะมีโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าไปช่วยผลักดันและสนับสนุนลูกค้าและผู้ประกอบการให้ธุรกิจ Halal ของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น เช่น ทำให้การขอเครื่องหมาย Halal มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและเข้าถึงง่าย เพิ่มมูลค่าและคุณภาพที่ได้มาตรฐานส่งออกให้แก่สินค้าและบริการของไทย

นายมารุต เมฆลอย นายกสมาคมการค้านักธุรกิจไทย-มุสลิม กล่าวว่า ชาวมุสลิมเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลกด้วยหลักความเชื่อทางศาสนาเรื่องการมีครอบครัวใหญ่และมีลูกหลายคน โดยคาดว่าจะเติบโตเป็นประชากร 30% หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลกภายในปี 2593 อุตสาหกรรมอาหาร Halal ในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 17% ของตลาดอาหารโลก นอกจากนี้ ประเทศมุสลิมหลายประเทศแถบตะวันออกกลางมีความมั่นคงทางอาหารค่อนข้างน้อยเนื่องจากไม่สามารถผลิตอาหารให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศได้ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการบุกตลาดอาหารของชาวมุสลิม

อย่างไรก็ตาม ด้วยหลักศาสนาอิสลามกำหนดให้ชาวมุสลิมอุปโภคบริโภคสินค้าที่มีเครื่องหมาย Halal ซึ่งแปลว่า “อนุมัติ” เท่านั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรต้องดำเนินการขอใช้เครื่องหมายรับรอง Halal บนสินค้า เช่นเดียวกับการดำเนินการขอใช้เครื่องหมายมาตรฐานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ISO หรือ GMP นอกจากนี้ เครื่องหมาย Halal ไม่ได้เป็นเครื่องหมายบนสินค้าอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ Halal ยังเป็นเครื่องหมายมาตรฐานที่อยู่ในสินค้าหรือบริการอื่น ๆ เช่น เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า รองเท้า เวชภัณฑ์ การท่องเที่ยว เป็นต้น ช่วยสร้างความมั่นใจในการเลือกซื้อหรือใช้บริการให้กับชาวมุสลิมได้อีกด้วย

นายธงชัย ตั้งมิ่งชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครัวนภัส ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีผลิตภัณฑ์ทั้งที่มีและไม่มีเครื่องหมาย Halal เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย สินค้าที่มีเครื่องหมาย Halal จะสามารถจำหน่ายได้ในตลาดที่กว้างและส่งออกได้สะดวกกว่า การขอเครื่องหมายรับรองสินค้า Halal มีทั้งการขอในรูปแบบของโรงงานและเป็นรายผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่แตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้บริษัทได้เริ่มส่งออกซอสพริกไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ และออสเตรเลียแล้ว

“สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง คือ กระบวนการผลิต วัตถุดิบ และสถานประกอบการจะต้องมีการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือทุกอย่างที่ไม่ปะปนกับสินค้าที่ไม่ Halal โดยเด็ดขาด ฉลากสินค้าก็จะต้องมีรูปแบบที่ชัดเจนไม่มีรูปภาพหรือข้อความที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และเรื่องค่าธรรมเนียมการขออนุญาตที่จะเป็นต้นทุนราคาสูงสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก” นายธงชัยกล่าว

นางสาวธภาภัค เต็งเจริญยิ่ง ผู้ก่อตั้ง บริษัท ซีซ่า ฟูดส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ขอใบรับรองเครื่องหมาย Halal ในส่วนของโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกำหนด แต่ในรายผลิตภัณฑ์เคยขอแต่ไม่ได้ต่อใบอนุญาตหากยังไม่ได้ส่งออก เนื่องจากจะมีค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตรายปี อยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือในด้านค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ลดราคาลงเพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงและสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกได้

 

 

ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกและผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกสามารถเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้า Halal สู่การส่งออก และสมัครขอรับบริการด้านสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องจาก EXIM BANK ได้ อัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำสุด 5% ต่อปีในปีแรก พร้อมรับกรมธรรม์ประกันการส่งออก EXIM for Small Biz คุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ มูลค่า 1,800 บาท ฟรี! ค่าเบี้ยประกัน 1 ราย กรณีที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้า Halal จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม Voucher มูลค่าสูงสุด 2,000 บาท เพื่อเป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันบริการ EXIM for Small Biz สำหรับการทำประกันผู้ซื้อรายที่ 2 หรือส่วนลดค่าประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ จำนวน 1 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 มิถุนายน 2567 สอบถาม EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999