โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

‘ธรรมศาสตร์’ จัดงานรำลึก 78 ปี วันสันติภาพไทย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผนึกสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงาน “ครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย” รำลึกคุณูปการของขบวนการเสรีไทยที่ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศพ่ายแพ้สงคราม “รองอธิการบดี มธ.” ระบุ ธรรมศาสตร์ฝากให้ทุกคนตั้งมั่นที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติภาพ ยึดหลักมนุษยธรรม และขันติธรรมเป็นที่ตั้ง เพื่อให้แนวคิดสันติภาพเป็นสากลและลงหลักปักฐานในประเทศไทยอย่างแท้จริง

 


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม “ครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย” ประจำปี 2566 ณ มธ. ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 เพื่อร่วมรำลึกถึงวีรกรรมและคุณูปการของขบวนการเสรีไทย ซึ่งนำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าขบวนการ ที่ได้ปฏิบัติภารกิจรับใช้ชาติอย่างกล้าหาญ จนช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศพ่ายแพ้สงครามในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธี

 

 

ศ.ดร.สุรพล เปิดเผยว่า วันนี้ (16 ส.ค.) นับเป็นโอกาสพิเศษอีกครั้ง ที่ มธ. ได้จัดงานที่มีความหมายมากของสยามประเทศ นั่นคืองานวันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม โดยได้ร่วมกับสถาบันปรีดีฯ เพื่อรำลึกถึงการปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติและปกป้องเอกราชแผ่นดินของขบวนการเสรีไทย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยประเทศไทยได้ประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ในสมัยรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่มีนายปรีดีดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

 

การประกาศสันติภาพเมื่อ 78 ปีที่แล้วนั้น แม้จะไม่ได้ประกาศที่ มธ. แห่งนี้ แต่ถนนชื่อ “16 สิงหาคม” ที่ มธ. ตั้งขึ้นในภายหลังนั้นก็เพื่อระลึกถึงวันสำคัญ นั่นเพราะที่ตั้งของ มธ. ท่าพระจันทร์แห่งนี้ คือที่ตั้งที่บัญชาการของผู้นำหมายเลข 1 ของขบวนการเสรีไทย นายปรีดี ผู้ประศาสน์การ มธ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ในเวลานั้น ห้องทำงานของผู้ประศาสน์การคือห้องมุขหน้าโดม ส่วนสนามฟุตบอลที่อยู่หลังตึกโดมคือที่ฝึกนักศึกษาที่เป็นยุวชนทหารที่เข้าร่วมงานเสรีไทย และหน้าตึกคณะรัฐศาสตร์ สมัยสงครามก็เป็นค่ายกักกันเชลย

“ณ ที่แห่งนี้จึงเหมาะด้วยเหตุหลายประการ เราจึงมาจัดงานวันสันติภาพไทย เพื่อรำลึกถึงผู้กล้าเสรีไทย ที่ทำงานเสี่ยงชีวิตและได้เสียชีวิต นับเป็นการเสียสละที่ทำให้สยามประเทศเป็นเอกราช ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้โดยมิต้องเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม” ศ.ดร.สุรพล กล่าว

 

 

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำว่า ‘สันติภาพ’ ไม่ได้หมายถึงเพียงช่วงเวลาที่ปลอดสงคราม หากแต่หมายถึงสภาพที่คนกลุ่มต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข ซึ่งถือความหลากหลายเป็นความงาม เราต้องเกื้อหนุนให้สันติภาพถือกำเนิดขึ้นทั้งในระดับปัจเจกชนและระดับสังคมส่วนรวม ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมีวุฒิภาวะและมีวิจารณญาณ จนถักทอกลายเป็นปัญญาร่วมรวมหมู่ของสังคม อย่างไรก็ดีสันติภาพไม่ใช่ของที่จะได้มาง่ายๆ แต่ทุกคนต้องยอมเสียสละและยึดความสงบสุขของสังคมโดยรวมเหนือประโยชน์ส่วนตน ยอมอดทนอดกลั้น และเข้าใจความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
“ในท้ายที่สุดในโอกาส 78 ปี วันสันติภาพไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอฝากให้เราทุกคนตั้งมั่นที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติภาพ ยึดหลักมนุษยธรรม และขันติธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพียงเพื่อหมู่ชนในรุ่นเรา หรือบรรพชนในรุ่นก่อน หากยังรวมถึงอนุชนรุ่นหลังจากนี้ที่จะถือกำเนิดเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้แนวคิดสันติภาพเป็นสากลและลงหลักปักฐานในประเทศไทยอย่างแท้จริง” รศ.ดร.พิภพ กล่าว

 

 

คุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กล่าวว่า สันติภาพไม่ได้หมายถึงแค่การวางอาวุธ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงปลอดภัยปราศจากความหวาดกลัว เข้าถึงความยุติธรรม และไม่ถูกคุกคามด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบอันเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

“ผมขอใช้พื้นที่นี้เรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจทุกหนแห่งให้หยุดการกระทำที่กำลังคุกคามสันติภาพบนโลกใบนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้คนทั่วโลกที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่ใฝ่ฝัน ผมขอร้องไปยังประชาคมทั่วโลกอย่าทอดทิ้งพวกเขา ได้โปรดสนับสนุนการต่อสู้ของพวกเขาเพราะพวกเขาก็เป็นมนุษย์คนนึงปรารถนาในสันติภาพเหมือนกับท่าน และสุดท้ายนี้ผมขอให้สันติภาพจงสถิตอยู่คู่มวลมนุษยชาติตลอดไป” คุณากร กล่าว

 

 

นัสรี พุ่มเกื้อ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่พึงระลึกคือสันติภาพนี้ไม่ได้มาจากเอกสารแผ่นกระดาษหรือการลงมติ แต่มาจากการต่อสู้ ความเสียสละ ความกล้าหาญ

ของขบวนการเสรีไทย และผู้กล้าทุกคนที่ได้สละชีพเพื่อพิทักษ์รักษาความผาสุกของประชาชนโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน จึงพูดได้เต็มปากว่าขบวนการเสรีไทยและทุกคนที่ร่วมต่อสู้ในช่วงวิกฤตการณ์นั้นคือวีรบุรุษของประเทศ

อย่างไรก็ดี ผ่านมา 78 ปี ถึงแม้ว่าโลกไม่ได้เผชิญหน้ากับสงครามโลกอย่างเต็มรูปแบบ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในขณะนี้สันติภาพไม่ได้เกิดขึ้นในทุกมุมของโลก การรำลึกถึงขบวนการเสรีไทยและผู้กล้าทุกคนที่ดีที่สุดไม่ใช่เพียงแค่การมาร่วมวางดอกไม้ หรือการกล่าวรำลึก แต่คือการพยายามรักษาสันติภาพ ปกป้องสิทธิ และเสรีภาพให้คงอยู่ไว้ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ขบวนการเสรีไทยและเหล่าผู้กล้าต้องการมากที่สุด” นัสรี กล่าว

 

สำหรับกิจกรรมวันงาน “ครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย” ประกอบด้วยพิธี “วางช่อดอกไม้” รำลึกถึงเสรีไทย และผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดยผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)
พร้อมกันนี้ ยังมีการจัดเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ “บทบาทประชาคมอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” โดยมี กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มธ. รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย และ อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ และกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นวิทยากร และดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สื่อมวลชน

 

 

อนึ่ง ประเทศไทยได้ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) และสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 25 ม.ค.2485 โดยผลพวงจากการตัดสินใจดังกล่าวทำให้ประเทศเกือบจะตกเป็นหนึ่งในประเทศที่แพ้สงคราม แต่เพราะวีรกรรมและการต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวของขบวนการเสรีไทย ภายใต้การนำของนายปรีดีที่ช่วยธำรงไว้ซึ่งเอกราชอธิปไตยของประเทศเอาไว้ได้

ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์ฝุ่นตลบคลี่คลาย นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้ออก ‘ประกาศสันติภาพ’ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ให้การประกาศสงครามดังกล่าวเป็นโมฆะ วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปีจึงถูกรำลึกไว้ในฐานะวันสันติภาพไทย พร้อมกับมีการตั้งชื่อ ถนน 16 สิงหา ภายใน มธ. ท่าพระจันทร์ ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำ