โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

รายเล็กมักพลาด! 5 ข้อผิดพลาดของธุรกิจครอบครัว บริหารไม่ดีมีแต่เจ๊ง!

ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจครอบครัวจะเป็นธุรกิจที่รับสืบทอดต่อๆ กันมา ซึ่งคนที่บริการก็จะเป็นญาติกันทั้งนั้น ทำให้เกิดการเกรงใจในครอบครัว และไม่สามารถใช้งานกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องมีทั้งความเกรงใจในการสั่งงาน หรือจะดุว่าก็ไม่ได้ ซึ่งเหตุนี้เองทำให้ธุรกิจครอบครัวนั้นเปราะบางและมีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ๊งไม่เป็นท่ามากกว่าธุรกิจที่ลงมือทำคนเดียว ซึ่งธุรกิจครอบครัวนั้นจะมีสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จอยู่ 5 ข้อด้วยกัน ดังนี้

1. วิสัยทัศน์ไม่ตรงกัน

เพราะธุรกิจครอบครัวเกิดขึ้นจากการบริหารของคนหลายคน ยิ่งเป็นครอบครัวใหญ่ยิ่งมีโอกาสเกิดการผิดพลาดเยอะ และมีโอกาสที่ความเห็นจะไม่ตรงกันสูงมาก ซึ่งความขัดแย้งตรงนี้จะนำไปสู่การตึงเครียด และมีการงัดข้อกระทบกระทั่งกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเหตุให้คนในครอบครัวแตกแยกและไม่ลงรอยกัน ต่างกับการบริหารธุรกิจด้วยตัวคนเดียว เป็นเจ้าของเอง คุณจะตัดสินใจขับเคลื่อนยังไงก็ได้

ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการระบุตัวตนของคนที่เป็นหัวหน้างานไปเลย แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน และให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจมีเพียงแค่คนเดียว

2. มีปัญหาเรื่องวัย

เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทัศนคติของคนในแต่ละช่วงวัยก็จะแตกต่างกันอย่างมาก คนรุ่นพ่อจะชื่นชอบการอนุรักษ์ ความยั่งยืน และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ แต่สำหรับคนรุ่นลูก จะชื่นชอบความท้าทาย อยากลองปรับอะไรใหม่ๆ เพราะเขาอาจจะศึกษาและได้ความรู้มาจากหลากหลายแหล่ง ทำให้อยากจะพัฒนาธุรกิจต่อไป ตรงนี้เองที่ทำให้ความเห็นไม่ลงรอยกัน และเกิดเป็นความแตกแยกขึ้น

โดยคุณสามารถปรับความเข้าใจตรงจุดนี้ได้จากการลองพัฒนาในส่วนที่เล็กๆ ดูก่อน และดูว่าสิ่งที่ปรับเปลี่ยนไปช่วยให้ธุรกิจดีขึ้นหรือไม่ ถ้าใช่ก็ค่อยดำเนินการจริง ก็จะทำให้คนทุกรุ่นทุกวัยยอมรับว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี

3. ขาดคนเก่งเข้ามาร่วมงาน

เพราะส่วนใหญ่ธุรกิจครอบครัวมักจะมอบตำแหน่งใหญ่โตที่มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจไว้ให้กับคนในครอบครัวเท่านั้น อย่างเช่นตำแหน่งผู้บริหาร เป็นต้น ตรงนี้เองครับทำให้คนเก่งๆ จากภายนอกไม่มีโอกาสเข้ามาบริหารจัดการ และทำให้ธุรกิจที่ควรประสบความสำเร็จเดินหน้าไปได้มากกว่านี้ต้องอืดลง จนอาจถึงขั้นเจ๊งได้เลย
ดังนั้นคุณอาจจะต้องเผื่อที่ไว้สำหรับคนนอกในการเปิดรับคนหน้าใหม่ๆ ให้เข้ามาคอยเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ หรือร่วมกันบริหารธุรกิจไปพร้อมๆ กันด้วยถึงจะดีที่สุด

4. เกรงใจกันจนเสียงาน

หลายๆ ครั้งคนที่มีอายุมากกว่าก็จะได้รับตำแหน่งงานที่สูงกว่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนที่เก่งกว่าแต่อย่างใด ตรงนี้เองที่ทำให้คนรุ่นน้องไม่กล้าที่จะเอ่ยปากกับคนรุ่นพี่ และเกิดความเกรงใจขึ้น ไม่กล้าล้ำเส้น เพราะกลัวจะผิดใจกันของคนในครอบครัว ดังนั้นเมื่อธุรกิจไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุดทันเวลา ก็เลยทำให้เกิดการเจ๊งได้ในที่สุด

วิธีแก้ไขคือ คุณต้องมีการจัดประชุมขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นทุกคนอย่างเป็นกลาง ทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าธุรกิจนี้เป็นของทุกคน ถ้ามีจุดไหนที่คิดว่าจะพัฒนาให้มันดีขึ้นได้ก็สามารถเสนอออกมาได้เลย และต้องให้ความยุติธรรมกับคนที่กล้าพูด จะไม่ถือเป็นการหักหน้า หักน้ำใจกัน ธุรกิจครอบครัวถึงจะไปรอด

5. นำเงินธุรกิจมาใช้จ่ายโดยไม่แบ่งสัดส่วน

เพราะธุรกิจครอบครัวเป็นของทุกคน ดังนั้นรายได้ที่เข้ามาก็จะเป็นของทุกคนเช่นกัน แต่เพราะการใช้จ่ายแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน บางคนใช้เยอะ บางคนใช้น้อย ดังนั้นถ้าคุณไม่แบ่งสัดส่วนอัตราการได้รับเงินกันตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้เกิดปัญหาตามมาแน่นอนว่า ทำไมคนนั้นได้เยอะ ทำไมคนนี้ได้น้อย และอาจนำไปสู่การใช้เงินมือเติบจนธุรกิจขาดเงินหมุนเวียนและเจ๊งได้

ซึ่งทางออกที่เหมาะสมที่สุดคือ ต้องระบุเงินเดือนของแต่ละคนอย่างชัดเจน ไม่เอาเงินของธุรกิจมาปะปนกันมั่วซั่ว ต่อให้ธุรกิจจะมีกำไรแค่ไหนก็ต้องจ่ายเงินเดือนตามที่ตกลงกันไว้ ส่วนที่เหลือเป็นกำไรสุดท้ายแล้วอาจจะนำมาหารเป็นโบนัสสิ้นปีก็ยังไม่สายครับ