การขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับดวง ในความเป็นจริงแล้วมีหลักเกณฑ์มากมายที่แบงก์นำมาใช้ในการพิจารณาประเมินความเป็นไปได้ ต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต้มต่อที่ทำให้สินเชื่อผ่านการอนุมัติ ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าอะไรที่ทำให้แบงก์ไม่ปล่อยกู้ วันนี้ เราจึงขอนำเสนอ 7 เหตุผล ที่แบงก์ไม่อนุมัติสินเชื่อ
1.นโยบายของธนาคารขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ แน่นอนว่าไม่มีธนาคารไหนที่ออกมาประกาศ ว่า งดปล่อยสินเชื่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจธนาคารจะมีนโยบายภายใน เช่น ประเมินความเป็นไปได้ที่เข้มงวดมากขึ้น หรือลดจำนวนการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของธนาคารที่เกิดจากหนี้เสีย ซึ่งผู้ประกอบการเองควรประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นด้วยเช่นกัน
2.ขาดประสบการณ์ ไม่มีเครดิต ธนาคารจะดูประสบการณ์ของผู้กู้ 2 เรื่องหลักๆ คือ ประสบการณ์การทำธุรกิจ ผู้ขอกู้เคยผ่านการทำธุรกิจมามากน้อยเพียงใด มีวิธีการรับมือกับปัญหาหรือการแก้ไขได้อย่างไร เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าหากผู้ขอกู้ไม่เคยมีประสบการณ์ หรือมีประสบการณ์น้อยมาก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ธนาคารจะไม่มั่นใจในตัวผู้กู้ ไม่มีเครดิต คำนี้คงคุ้นหูกันดีอยู่แล้ว ผู้กู้ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุนของตัวเอง ไม่เคยขอสินเชื่อหรือผ่านชำระหนี้ใดมาก่อน อาจทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติเช่นกัน
3.ประวัติไม่ดี มีเครดิต ใช่ว่าจะกู้ผ่านเสมอไป ถ้าประวัติการชำระหนี้ไม่ดีก็จะมีผลต่อการพิจารณาแน่นอน หนี้สินในที่นี้รวมถึง สินเชื่อบุคคล สินเชื่อธุรกิจ และหนี้สินจากการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารจะทำการตรวจสอบประวัติทางการเงินย้อนหลังทั้งหมด ถ้าเคยมีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี NPL (Non-Performing Loan) เช่น ไม่ยอมชำระหนี้ มีหนี้สินติดค้าง หรือชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนด จงรู้ไว้เลยว่ามีโอกาสที่ไม่ได้ผ่านอนุมัติสูง
4.เงินหมุนเวียนในบัญชีไม่เพียงพอ นอกจากการดูสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ อีกสิ่งสำคัญที่สถาบันการเงินมักใช้ประเมินความสามารถในการชำระของเจ้าของกิจการ คือ เงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคาร ซึ่งถ้าคุณไม่สามารถแสดงให้เห็นว่ากิจการมีเงินทุนหมุนเวียนมากพอต่อเงินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือน อาจทำให้สถาบันการเงินปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่อ
5.ไม่เคยมีแผนธุรกิจ หวังจับเสือมือเปล่า โดยที่ไม่มีการเตรียมพร้อมย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะขอ สินเชื่อเพื่อธุรกิจ สิ่งที่จะทำให้ธนาคารอนุมัติได้นั้น คือ แผนธุรกิจที่ดี สามารถเป็นไปได้จริง โดยเขียนถึงขั้นตอนการทำธุรกิจตั้งแต่ จุดเริ่มต้น กระบวนการ วิธีการ เป้าหมาย กลยุทธ์ จุดอ่อน จุดแข็ง ความเสี่ยงที่จะเกิด แผนรับมือ รายรับ – รายจ่ายเป็น ต้นทุน – กำไร เป็นต้น แผนธุรกิจ ถือเป็นเครื่องมือสําคัญที่จะทําให้ผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการรายเล็กมักจะมีปัญหาการเขียนแผนธุรกิจ ไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร เริ่มต้นจากตรงไหน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถศึกษาแนวทางการเขียนแผนธุรกิจได้ที่
6.ไม่พร้อมจนเห็นได้ชัด ผู้ขอกู้อาจไม่ได้ใส่ใจในการไม่มีเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น งบการเงิน ใบอนุญาต รวมไปถึงไม่ได้เขียนแผนธุรกิจขึ้นเอง อาศัยผู้อื่นเขียนให้หรือจ้างผู้อื่นเขียนแผนธุรกิจขึ้น ซึ่งการให้ผู้อื่นเขียนแผนธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจในแผนธุรกิจนั้นจริงๆ สามารถตอบข้อซักถามจากทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารได้อย่างชัดเจน สามารถชี้แจงได้ทุกหัวข้อ ทุกขั้นตอนในแผนธุรกิจนั้นๆ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่ธนาคารขอดูเอกสารประกอบ หรือซักถามเกี่ยวกับแผนธุรกิจ แต่ผู้กู้ไม่สามารถชี้แจงประเด็นต่างๆ อาจทําให้เจ้าหน้าที่ธนาคารมองว่า ผู้ประกอบการยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเพียงพอเกี่ยวกับธุรกิจที่ทำอยู่ เป็นเหตุให้ถูกปฏิเสธได้
7.ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยส่วนใหญ่แล้ว สินเชื่อเพื่อธุรกิจจำเป็นต้องมีหลักค้ำประกัน ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ผู้ขอกู้เองควรศึกษานโยบายสินเชื่อของแต่ละธนาคารให้ดีเสียก่อน ในความเป็นจริงการหาผู้ค้ำประกันให้ตรงตามข้อกำหนดที่ทางธนาคารวางไว้ดูเป็นเรื่องยาก ถึงแม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายระบุว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องชำระหนี้แล้วก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากไปค้ำประกันให้ใครอยู่ดี ทั้งนี้ บางธนาคาร บางสินเชื่อ ก็ไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน หรือมีการค้ำประกันจากทาง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่คอยสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยการเป็นผู้ค้ำประกันแทน