ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ชี้ช่องรวย แนะ 5 สิ่งที่ควรทำ และ 5 สิ่ง ที่ไม่ควรทำ ที่จะเป็นตัวตัดสินว่าคุณจะได้งานนั้นหรือไม่ ตอนไปสัมภาษณ์งาน


การสัมภาษณ์งานถือเป็นด่านที่ 2 รองลงมาจากการยื่นใบสมัครของการสมัครงาน รู้หรือไม่ว่าคนส่วนใหญ่มักตกม้าตายในส่วนนี้วันนี้ ชี้ช่องรวย ได้สรุป ข้อควรทำและไม่ควรทำ ในการสัมภาษณ์งาน มาฝากกัน ซึ่งเป็นข้อมูลดีๆ จาก JobThai.com เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Do

สิ่งที่ควรทำในการสัมภาษณ์งาน

1. ศึกษาข้อมูล

เตรียมตัวก่อนการสัมภาษณ์งานด้วยการศึกษาประวัติ รูปแบบกิจการ วัฒนธรรมองค์กร สินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่จะไปสัมภาษณ์ รวมถึงรายละเอียดตำแหน่งงานที่เราจะไปสมัครด้วย เพราะหากเรานำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในขณะสัมภาษณ์งาน อาจจะทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราสนใจบริษัทและงานในตำแหน่งนั้นจริงๆ  

2. ฟังคำถามให้จบ

ไม่ควรพูดแทรกหรือรีบตอบในขณะที่ผู้สัมภาษณ์ยังถามคำถามไม่จบ ควรฟังคำถามจากผู้สัมภาษณ์ให้ครบถ้วน จากนั้นใช้เวลาในการทบทวนคำถาม และคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนตอบ  

3. มีเหตุผลสนับสนุน

คำถามส่วนมากในการสัมภาษณ์งานมักเป็นคำถามปลายเปิด ดังนั้นเวลาที่จะตอบคำถาม ผู้สมัครควรมีเหตุผลสนับสนุนในคำตอบทุกครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้คำตอบและสร้างความประทับใจในการแสดงทัศนคติกับผู้สัมภาษณ์

4.ตอบอย่างจริงใจ

ระหว่างการสัมภาษณ์งาน ควรตอบคำถามด้วยความจริงใจ รวมถึงใส่ความรู้สึกที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในทุกๆ คำตอบเพื่อให้ผู้สัมภาษณ์สัมผัสได้ถึงความตั้งใจในการสมัครงาน  

5. เตรียมคำถาม

ก่อนจะจบการสัมภาษณ์งาน ผู้สัมภาษณ์มักจะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ถามคำถามเสมอ ดังนั้นเราจึงควรเตรียมคิดคำถามที่จะใช้สำหรับถามผู้สัมภาษณ์เอาไว้ การถามคำถามเกี่ยวกับลักษณะการทำงานหรือบรรยากาศการทำงาน จะเป็นคำถามที่สามารถสร้างความประทับใจได้อย่างดี  

Don’t

สิ่งที่ไม่ควรทำในการสัมภาษณ์งาน

1.โกหก

สิ่งต้องห้ามอันดับหนึ่งของการสัมภาษณ์งานคือการโกหก เพราะการโกหกสามารถทำลายความน่าเชื่อถือทั้งหมดในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ซึ่งผู้สัมภาษณ์จะสังเกตได้จากทั้งการแสดงออกทางแววตา และความสัมพันธ์ทางข้อมูลในจดหมายสมัครงาน ประวัติ และคำตอบในระหว่างสัมภาษณ์  

2.พูดถึงจุดด้อย

ถึงแม้ว่าการสัมภาษณ์เราควรให้ข้อมูลทั้งข้อดีและข้อด้อยของตัวเอง แต่การพูดถึงจุดด้อยของตนมากเกินไปก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อการสัมภาษณ์งานนัก เพราะจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของตนเองและเสียโอกาสในการสร้างความประทับใจแก่ผู้สัมภาษณ์ แต่หากผู้สัมภาษณ์ถามถึงจุดอ่อนของเราขึ้นมา เราก็ต้องบอกจุดอ่อนพร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมไปด้วยว่าเราจะพัฒนาและแก้ไขจุดอ่อนนั้นอย่างไร

3.ถามเรื่องเงินเดือนก่อน

ไม่ควรจะถามเรื่องเงินเดือนขณะที่กำลังสัมภาษณ์งาน หรือแม้ในช่วงท้ายที่ผู้สัมภาษณ์ถามว่ามีอะไรจะถามไหมก็ตาม หากผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ถามคำถาม เราก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าที่ และประสบการณ์ที่จะได้รับมากกว่าเงินค่าตอบแทนในการทำงาน

4. ตอบรับทุกกรณี

อย่ารับปากว่าสามารถทำได้ทุกอย่าง ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือไม่ถนัด ด้วยเหตุผลว่ากลัวจะถูกมองว่าไม่เก่ง หรือไม่มีความสามารถมากพอที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ ถ้าหากเรารู้ตัวเองว่าไม่ชอบหรือไม่ถนัดอะไร เราก็ควรหาวิธีพูดด้วยความนอบน้อมและให้เหตุผลไปตามความจริงแทน  

5. พาคนอื่นๆ ไปรอที่บริษัท

การพาผู้ปกครอง หรือเพื่อนไปรอที่บริษัทในวันที่เราไปสัมภาษณ์นั้นอาจจะทำให้เราถูกมองว่ายังเป็นเด็กที่ไม่พร้อมจะก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน และขาดวุฒิภาวะที่จะรับผิดชอบในหน้าที่การงาน หากจำเป็นต้องพาบุคคลเหล่านั้นมาด้วย ก็ควรให้รออยู่ด้านนอกหรือบริเวณใกล้เคียง  

JobThai.com  ระบุด้วยว่า ข้อควรทำและไม่ควรทำในการสัมภาษณ์งานดังกล่าวเป็นข้อแนะนำเบื้องต้นที่สามารถลดความประหม่าของผู้สมัครในการสัมภาษณ์งาน และสร้างความประทับใจให้เกิดกับผู้สัมภาษณ์ได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องแสดงออกถึงความรู้ความสามารถที่เกี่ยวกับงาน บุคลิกภาพ และทัศนคติของเราให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็น รวมถึงจุดมุ่งหมายของชีวิต เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ผู้สัมภาษณ์นำมาใช้ประกอบการพิจารณารับใครสักคนมาร่วมงานด้วย