โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

แจ้งออกแรงงานต่างด้าว เรื่องที่นายจ้างต้องรู้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

การว่าจ้างแรงงานต่างด้าว มีข้อระเบียบที่กำหนดชัดเจน เกี่ยวกับการจ้างงานซึ่งแตกต่างออกไปจากการจ้างแรงงานภายในประเทศ เนื่องจากมีเรื่องของการอยู่อาศัยในอาณาจักรไทยของคนต่างด้าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างด้าว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานหรือการแจ้งออกจากงานย่อมมีข้อกำหนดที่นายจ้างต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ครั้งน้ทางบทความจะมาอธิบายเกี่ยวกับการแจ้งออกของแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ

ข้อกำหนดของการแจ้งออกแรงงานต่างด้าว

ในการแจ้งออกจากงานจะต้องทำภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่นายจ้างออกจากงาน โดยให้นับวัดถัดจากวันออกจากงานเป็นวันที่ 1 ยกตัวอย่าง ถ้าหากลูกจ้างออกจากงานวันที่ 1 ม.ค.67 นายจ้างจะต้องแจ้งภายในวันที่ 16 ม.ค.67

หากไม่แจ้งออกแรงงานต่างด้าว จะมีผลอย่างไร

กรณีที่แรงงานต่างด้าวออกจากงานแล้วนายจ้างไม่แจ้งออกจากงานตามข้อกำหนดภายใน 15 วัน จะมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทตามกฎหมายที่กำหนดในมาตรา 13

ขั้นตอนการแจ้งออกแรงงานต่างด้าว

ในส่วนของการแจ้งออกแรงงานต่างด้าว จะต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อนำไปแจ้งออกตามลำดับ ดังนี้

1.เตรียมเอกสาร

● สำเนาพาสปอร์ตของแรงงานต่างด้าว
● สำเนาวีซ่าของแรงงานต่างด้าว
ใบแจ้งยกเลิกการอนุญาตทำงาน โดยนายจ้างเป็นผู้ลงนาม พร้อมสำเนา 2 ฉบับ
● ใบอนุญาตทำงานฉบับจริง (ยกเว้นกรณีคนต่างด้าวไม่สามารถติดต่อได้ ให้แนบสำเนาใบอนุญาตทำงาน ถ้ามี)
● สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนสถานประกอบการ เช่น หนังสือรับรองนิติบุคคลบริษัท (ถ้าไม่เกิน 6 เดือน) ใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน หนังสือรับรองนิติบุคคลของมูลนิธิ เป็นต้น พร้อมลงนามและประทับตราบริษัท
● สำเนาบัตรประชาชนนายจ้าง ถ้านายจ้างเป็นคนไทย หรือสำเนาใบอนุญาตทำงานของนายจ้าง ถ้านายจ้างเป็นคนต่างด้าว
● สำเนาทะเบียนบ้านนายจ้าง
● หนังสือมอบอำนาจจากนายจ้าง พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ ถ้าไม่ได้มาดำเนินการด้วยตนเอง

2.แจ้งออกแรงงานต่างด้าว

เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้ว นายจ้างจะต้องเดินทางไปทำการแจ้งออกแรงงานต่างด้าว ภายใน 15 วัน (นับวันถัดจากวันที่แรงงานต่างด้าวออกจากงานเป็นวันที่ 1) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในเขตพื้นที่ที่เป็นสถานที่ตั้งของสถานประกอบการที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ พร้อมทั้งระบุเหตุผลของการแจ้งออก

สิทธิในการออกจากงานของแรงงานต่างด้าว

แรงงานต่างด้าวมีสิทธิออกจากงานได้ 2 กรณี คือกรณีแรกออกจากงานโดยไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนนายจ้าง และกรณีที่สองออกจากงานโดยมีสิทธิ์เปลี่ยนนายจ้าง รายละเอียดมีดังนี้

1.แรงงานต่างด้าวออกจากงานโดยไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนนายจ้าง

กรณีนี้คือการออกจากงานของแรงงานต่างด้าว โดยไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของนายจ้าง อาจจะเป็นความประสงค์ของแรงงานต่างด้าวเองที่ต้องการออกจากงาน หรือออกจากงานเพราะตัวแรงงานต่างด้าวกระทำความผิด เช่น การละทิ้งงานโดยไม่จ่ายค่าเสียหายให้กับนายจ้าง หากเป็นเช่นนั้นใบอนุญาตทำงานและสิทธิการอยู่อาศัยในประเทศไทยของแรงงานต่างด้าวรายนั้นจะเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ออกจากงาน ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางของตัวแรงงานเองโดยเร็ว หากยังอาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อไป จะมีความผิดทางกฎหมาย

2.แรงงานต่างด้าวออกจากงานออกจากงานโดยมีสิทธิ์เปลี่ยนนายจ้าง

บางกรณีแรงงานต่างด้าวสามาถออกจากงานโดยมีสิทธิเปลี่ยนนายจ้างได้ กฎหมายไทยกำหนดให้แรงงานต่างด้าว MOU เปลี่ยนนายจ้างได้ หากมีสาเหตุของการลาออกมาจากนายจ้าง ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

● นายจ้างเลิกจ้างหรือเสียชีวิต
● นายจ้างทำทารุณกรรมหรือทำร้ายลูกจ้าง
● นายจ้างจ่ายเงินไม่ตรงกับสัญญาว่าจ้าง หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
● นายจ้างล้มละลายหรือลดกำลังการผลิต เนื่องจากไม่มีงานให้กับแรงงานต่างด้าว
● สภาพการทำงานหรือสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานอาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ สุขภาพอนามัย หรือชีวิตของลูกจ้าง

ข้อกำหนดของแรงงานต่างด้าวในการเปลี่ยนนายจ้าง

แรงงานต่างด้าวบัตรชมพูที่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ จะต้องเปลี่ยนนายจ้างภายในเวลาที่กำหนด ก่อนที่สิทธิการอยู่อาศัยในประเทศไทยจะสิ้นสุดลง

โดยแรงงานต่างด้าวที่แจ้งออกงานจากนายจ้างคนเดิมแล้ว จะต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกจากนายจ้างเดิม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากออกจากนายจ้างเดิมในวันที่ 1 ม.ค.67 ก็จะต้องหายนายจ้างใหม่และเข้าทำงานกับนายจ้างใหม่ให้ได้ภายในวันที่ 16 ม.ค.67 และจะต้องแจ้งเข้าทำงานกับนายจ้างใหม่ภายใน 15 วันเช่นกัน นั่นก็คือภายในวันที่ 31 ม.ค.67

กล่าวโดยสรุป การแจ้งออกแรงงานต่างด้าวต้องกระทำภายใน 15 วัน เช่นเดียวกันกับการแจ้งเข้างานจองแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายจ้าง เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง หากไม่กระทำตามข้อกำหนดจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

จะเห็นว่าเรื่องของการแจ้งออกแรงงานต่างด้าว ก็มีความสำคัญซึ่งเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานไทย นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี แต่ถ้าหากไม่สามารถสละเวลาเพื่อจัดการธุระตรงนี้ด้วยตัวเอง การพึ่งพาบริษัทที่รับจัดทำเอกสารต่างด้าว ก็ช่วยแบ่งเบาภาระส่วนนี้ได้เช่นกัน