ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังคงเป็นความกังวลของมวลมนุษยชาติ เห็นได้จากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่ยังเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทั่วโลก ตราบเท่าที่อุณหภูมิของโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น การประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) เมื่อปี 2564 ผู้นำประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงร่วมกันให้คำมั่นว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 ซึ่งไทยในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UN) มีเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ Net Zero Emissions ภายในปี 2608
![](http://media.smartsme.co.th/cheechongruay/2024/07/09/30062_5.jpg)
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของการค้าโลกอย่างสหรัฐ ฯ สหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึง 51% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยในปี 2566 ได้ออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่บังคับใช้เพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐ ฯ จะออกมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน Clean Competition Act (CCA) จากสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อินเดียยกเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ญี่ปุ่นกำหนดให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าหรือใช้บรรจุภัณฑ์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการรีไซเคิล เป็นต้น ซึ่งล่าสุดมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มขึ้นถึง 18,000 ฉบับ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 16% (ปี 2556-2565)
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ปัญหาของไทยในขณะนี้คือ ยังมีการส่งออกสินค้าสีเขียวหรือสินค้ารักษ์โลกเพียง 7.6% ของมูลค่าการส่งออกรวม ยังไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งบนเวทีโลกอย่างเกาหลีใต้ที่ส่งออกสินค้าสีเขียวในสัดส่วน 10.2% จีน 10.4% ญี่ปุ่น 15% เยอรมันนี 15.4% ขณะนี้เริ่มเข้าสู่จุดที่ยากที่สุดในการปรับตัวของผู้ประกอบการแล้วคือ การปรับลดก๊าซเรือนกระจกใน Scope ที่ 3 กล่าวคือ Scope ที่ 1 เป็นการใช้พลังงานโดยตรง เช่น เชื้อเพลิงดีเซล น้ำมัน Scope ที่ 2 เป็นการใช้พลังงานทางอ้อม เช่น ไฟฟ้า ส่วน Scope ที่ 3 เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้ง Suppliers และผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและยากที่สุด โดยคาดว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 คิดเป็นสัดส่วน 90% ของกระบวนการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลในการจัดทำรายงานการติดตาม Carbon Footprint ซึ่งได้แก่ประมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ
![](http://media.smartsme.co.th/cheechongruay/2024/07/09/30062_3.jpg)
“ปัญหาหลักที่ทำให้ Scope 3 ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการลดการปล่อยก๊าซได้ง่าย ๆ เพราะมีความยุ่งยากและซับซ้อนในการจัดทำรายงานและตรวจสอบกระบวนการผลิตตลอด Supply Chain เช่น การตรวจสอบต้นทางการรับวัตถุดิบจาก Suppliers รายย่อยว่ากระบวนการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงไร ขณะที่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ พันธมิตร การขนส่งมีความหลากหลายมาก” ดร.รักษ์กล่าว
ภายใต้บทบาทของ EXIM BANK สู่การเป็น Green Development Bank ธนาคารได้ดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2573 และ Net Zero Emissions ในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปีและ 15 ปีตามลำดับ เร่งดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571
![](http://media.smartsme.co.th/cheechongruay/2024/07/09/30062_4.jpg)
ดร.รักษ์กล่าวต่อไปว่า EXIM BANK สานพลังกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน พัฒนานวัตกรรม “Greenovation” ที่จะสร้าง Green Supply Chain ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว แข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีการค้าโลก ช่วยผู้ประกอบการลดการปล่อยคาร์บอนทั้ง 3 Scope โดย Scope 1 ช่วยผู้ส่งออกลดคาร์บอนในการผลิต ซึ่งเป็นการลดคาร์บอนที่เกิดจากองค์กรโดยตรง เช่น กระบวนการผลิต การใช้รถขององค์กร สินเชื่อที่ช่วยผู้ประกอบการไทยปรับตัวทางธุรกิจ ได้แก่ EXIM Green Start, EXIM Green Goal และ EXIM Extra Transformation
Scope 2 ช่วยผู้ส่งออกลดคาร์บอนจากการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นคาร์บอนที่เกิดจากพลังงานที่ซื้อมาใช้ในองค์กร เช่น ไฟฟ้า ความร้อน ไอน้ำ ซึ่งมีสินเชื่อ Solar D-Carbon Financing และสินเชื่อ EXIM Green Goal เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ Solar Rooftop และ Solar Farm
Scope 3 EXIM BANK จะมี Green Value Chain เป็น Solution ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัว ช่วย Suppliers ของผู้ส่งออกลดคาร์บอน ซึ่งเป็นคาร์บอนที่ไม่ได้เกิดจากองค์กร ดำเนินการเองโดยตรง เช่น คาร์บอนที่เกิดจาก Suppliers ใน Chain ของผู้ส่งออกที่เป็นลูกค้าของธนาคาร และเตรียมหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการ Verify ให้กับผู้ประกอบการ ช่วยประเมินประสิทธิภาพและสอบทานการลดการปล่อยคาร์บอน
“เราเป็นธนาคารที่มีผลิตภัณฑ์ครบวงจรเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งหมด ส่งเสริมให้ SMEs ตั้งเป้าหมาย Green ให้ชัดเจนและพร้อมเติมความรู้สีเขียว เติมโอกาสสีเขียว และเติมเงินทุนสีเขียว ด้วยผลิตภัณฑ์ประเภท Green ต่าง ๆ ของ EXIM BANK พร้อมสิทธิประโยชน์และโปรโมชันพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่ธุรกิจทุกระดับเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในตลาดการค้าโลก ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ผู้บริโภคและกติกาการค้าโลกยุคใหม่ ถือเป็นมาตรการที่จะเข้ามามีส่วนในการทำให้ธุรกิจได้รับการยอมรับจากคู่ค้าในระดับสากล โดยเฉพาะในตลาดที่มีกำลังซื้อสูงจะทำให้การส่งออกง่ายขึ้น ขยายตลาดได้กว้างขึ้นและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทั่วโลก การปรับตัวอาจจะมีต้นทุนในช่วงแรก แต่ในระยะยาวมีความคุ้มค่ามาก” ดร.รักษ์กล่าว
![](http://media.smartsme.co.th/cheechongruay/2024/07/09/30062_2.jpg)
EXIM BANK ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยโดยเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับอนุมัติโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) แบบแผนงาน (Programme of Activites : PoA) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs หรือโครงการขนาดเล็กที่ไม่มีความคุ้มค่าในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต สามารถขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับผลประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม โดย EXIM BANK เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนให้และส่วนแบ่งที่ EXIM BANK ได้รับเป็นคาร์บอนเครดิตจากโครงการนี้จะนำไปชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของ EXIM BANK เพื่อให้ธนาคารบรรลุเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ที่ตั้งไว้