บสย. อยู่คู่สังคมการเงินไทยมากว่า 23 ปีแล้ว ปัจจุบันได้ขยาย 9 สาขาในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้บริการด้านการค้ำประกันอย่างทั่วถึง ล่าสุดได้มีการเปิดสาขาที่ 10 จ.อุบลราชธานี ให้บริการครอบคลุมในเขตภาคอีสานตอนใต้ 5 จังหวัด พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีการขยายตัวด้านการค้าชายแดนกับ สปป.ลาว
“แหล่งทุน SEMs” ฉบับนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และ คุณรุ่งชัย เศรษฐบดี ผู้จัดการสำนักงาน สาขาอุบลราชธานี ถึงนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ำประกันเงินให้ SMEs ในส่วนภูมิภาค
บ้านใหม่หลังที่ 10 เข้าถึง SMEs
คุณวิเชษฐ กล่าวว่าในปีนี้ บสย. ได้ขยายเครือข่ายการให้บริการค้ำประกันสินเชื่อ การให้คำปรึกษาการเข้าถึงแหล่งทุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังต้องการขยายธุรกิจ และมีความต้องการใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. สำหรับสาขาแห่งใหม่ที่ จ.อุบลราชธานี นับเป็นสาขาที่ 10 ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการในเขตภาคอีสานตอนใต้ 5 จังหวัดคือ ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และร้อยเอ็ด
โดยกำหนดให้สาขาอุบลราชธานี เป็นศูนย์กลางการให้บริการค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาลูกค้าที่ต้องขยายธุรกิจ พัฒนาธุรกิจ ต่อยอด เสริมสภาพคล่องธุรกิจ โดยช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น จุดเด่นของทำเลที่ตั้งคือ อยู่ในย่านการค้า การลงทุน ศูนย์กลางธุรกิจ และสถาบันการเงิน สะดวกต่อการเดินทางตรวจเยี่ยมลูกค้า อาทิ อุบลราชธานี – ศรีสะเกษ ระยะทาง 61 กิโลเมตร อุบลราชธานี – อำนาจเจริญ 75 กิโลเมตร อุบลราชธานี – ยโสธร 98 กิโลเมตร และอุบลราชธานี-ร้อยเอ็ด 169 กิโลเมตร
4.2 หมื่นล้าน ยอดค้ำประกันไตรมาส 3
ยอดค้ำประกันสินเชื่อ SMEs รวมของ บสย.นับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2557 คุณวิเชษฐ เผยตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท โดยช่วงเวลาที่เหลืออีกประมาณ 3 เดือนของปีนี้ (2557) ยอมรับว่ายอดค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ของ บสย. คงไม่ถึง 1 แสนล้านบาท ตามเป้าที่วางไว้เมื่อต้นปี สาเหตุสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน ซึ่งคาดการณ์ GDP รวมจะเติบโตเพียง 1.5% อีกทั้งการส่งออกชะลอตัว หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูง ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุน เหล่านี้ประกอบกันทำให้ยอดอนุมัติสินเชื่อ SMEs ของสถาบันการเงินไม่เติบโตนัก และชะลอตัวในการปล่อยสินเชื่อ สำหรับยอดค้ำประกัน SMEs ของ บสย. เพิ่มขึ้นเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ได้เพิ่มสูงมากตามที่คาดการณ์ไว้
“ในทุกๆ ความเคลื่อนไหว บสย. พยายามนำเสนอบทบาทให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs มากยิ่งขึ้น เช่น มีการจัดปฐมนิเทศลูกค้าเก่าของ บสย. ให้ช่วยบอกต่อในกลุ่มธุรกิจ หรือเครือข่ายของตัวเอง เพื่อให้เห็นประโยชน์ของการใช้บริการ บสย. เป็นต้น รวมถึงสิทธิพิเศษจาก 5 มาตรการ บสย. เพื่อ SMEs ซึ่งประกอบด้วยรัฐจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 รัฐช่วยเหลือกลุ่มรายย่อย Micro ช่วยเหลือกลุ่ม OTOP มาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และมาตรการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก” คุณวิเชษฐย้ำถึงบทบาทของ บสย.
สาขาอุบล กับผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือน
สำหรับสาขาอุบลราชธานีที่กำกับการดูแล 5 จังหวัด คุณรุ่งชัย เศรษฐบดี ผู้จัดการสำนักงาน สาขาอุบลราชธานี เผยว่า ผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือน (1 ม.ค. – 30 ก.ย. 2557) มีจำนวน SMEs ขอใช้บริการค้ำประกัน รวม 667 ราย วงเงินค้ำประกันกว่า 1,444 ล้านบาท โดยจ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดมีผู้ใช้บริการค้ำประกันสูงสุด วงเงิน 543 ล้านบาท ตามด้วย จ.ร้อยเอ็ด วงเงิน 369 ล้านบาท และ จ.ศรีสะเกษ วงเงิน 204 ล้านบาท โดยมีกลุ่มธุรกิจที่ใช้บริการค้ำประกันจาก บสย. สูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ภาคการผลิต ภาคการค้า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจบริการ และกลุ่มเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์
โดยภาพรวมเศรษฐกิจ จ.อุบลราชธานี มีประชากรไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคน เป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศไทยที่มีศักยภาพด้านการทำธุรกิจ โดยธุรกิจหลักของที่นี่คือ ธุรกิจท่องเที่ยว การค้า การผลิต ค้าปลีก ค้าส่งรวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ ส่วนกลุ่มสินค้าโอทอป บสย. ก็ได้ให้ความสำคัญสนับสนุนค้ำประกันเช่นกัน เพราะเป็นการสนับสนุนให้คนในพื้นที่ได้มีอาชีพและมีธุรกิจที่ทำอย่างจริงจัง สำหรับ NPLs กลุ่ม SMEs กับ บสย. ใน จ.อุบลราชธานี มีประมาณ 4% จากภาพรวมทั้งหมด วงเงิน 40 กว่าล้านบาท กับลูกค้าประมาณ 20 ราย
ตั้งเป้าไตรมาส 4 ยอดค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท
ด้วยความที่ จ.อุบลราชธานี เป็นที่ตั้งของ “ด่านช่องเม็ก” เขตติดต่อการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 เขตการค้าชายแดนที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเป็นแผนโรดแมพของการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีมูลค่าการค้า ณ ด่านช่องเม็กไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณ 17% เทียบกับตัวเลขมูลค่าการค้าปี 2556 ซึ่งมีมูลค่าราว 13,000 ล้านบาท มั่นใจว่าการเปิดสาขาอุบลราชธานี จะรองรับความต้องการผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น คาดว่าภายในสิ้นปี บสย. สาขาอุบลราชธานี จะมียอดค้ำประกันรวม 5 จังหวัด 2,000 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการ SMEs ใช้บริการค้ำประกันเพิ่มขึ้น 30%
นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเขตอีสานตอนใต้ จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน ด่านช่องเม็กคาดว่าจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมาก ต้องการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งสาขาอุบลราชธานี จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
รุกจัดกิจกรรมเข้าถึง SMEs อีสานใต้
ประเดิมด้วยการจัดงาน Orientation หรือ เรียกอีกบทบาทหนึ่งว่า การปฐมนิเทศ วัตถุประสงค์หลักเพื่อเน้นความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า SMEs กับ บสย. ทั้งลูกค้ารายเก่าที่เคยได้รับการค้ำประกันจาก บสย. ที่ผ่านมาปี 2556 และลูกค้ารายใหม่ที่ยังไม่เข้าใจบทบาทที่ชัดเจนของ บสย. งานนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจ และอธิบายให้ลูกค้าได้รู้จัก บสย. อย่างถ่องแท้มากขึ้น รวมถึงเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ยังไม่รู้จัก บสย. ได้รู้จักมากขึ้น โดยกิจกรรมนี้ได้จัดครบทั้ง 5 จังหวัด ในโซนอีสานใต้ที่ บสย. ดูแล เป็นกิจกรรมที่ได้รับผลการตอบรับจากลูกค้าตรงตามที่คาดหวัง นอกจากนี้บสย. สาขา จ.อุบลราชธานี ก็เน้นจัดงาน และเข้าร่วมงานที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินทุกๆ งานตลอดจนถึงสิ้นปี 2557
SMEs รายเก่า รายใหม่ ที่ยังกังวลเรื่อง “ไม่มีทุน” สามารถมุ่งหน้าไปยัง บสย. สาขา จ.อุบลราชธานีได้ เชื่อว่าผู้ประกอบการ SMEs ย่านนี้ จะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น บสย. พร้อมสนับสนุนให้ SMEs ไทย ขยายธุรกิจ พัฒนาและต่อยอด ตลอดจนเสริมสภาพคล่องธุรกิจ และเพื่อรับการมาถึงของ AEC ในระยะเวลาอันใกล้นี้แล้วด้วย ส่วนการทำงานของ บสย. ขณะนี้ก็เน้นปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อเข้าถึงและใกล้ชิดลูกค้าให้ได้มากที่สุด พร้อมปรับวิธีการทำงานให้เกิดความรวดเร็ว ที่สำคัญมองหาช่องทางที่จะช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนให้ได้ในทุกๆ ธุรกิจ