“ถ้ามีคนทำวิจัยกลุ่มคนที่มีอายุ 25-45 ปี ผมว่าคนกลุ่มนี้น่าจะนอนดึกขึ้น และไลฟ์สไตล์ของเขาไม่ได้อยู่ในบ้าน เพราะทุกวันนี้ที่อยู่อาศัยอาจจะเล็กลง เช่น อยู่คอนโดมิเนียม มากขึ้น เลยต้องออกมานอกบ้าน ทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงกลางคืน แต่บ้านเรามีพื้นที่สาธารณะน้อย หลัง 4 ทุ่มห้างก็ปิดหมด ไหนๆ จะทำร้านแล้ว เราจึงเปิด 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนกลุ่มนี้โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา ลูกค้าจะเข้ามาที่ร้านเราค่อนข้างมากในช่วงเที่ยงคืนครึ่งถึงตี 1”
คุณปรัชญา ใส่ไอเดีย 24 ชั่วโมงในร้าน Think Tank ภายใต้คอนเซ็ปต์ third place ด้วยมุ่งหวังว่าที่นี่จะเป็นสถานที่ที่ 3 ให้กลุ่มนักคิดหรือคนรุ่นใหม่จะนัดหมายมาพบปะกัน สถานที่ก็มีให้ใช้งานทั้งแบบที่ใช้เสียงได้ และโซนที่ต้องการความเงียบเป็นพิเศษ ทั้งยังมีห้องประชุมให้เช่าชั่วโมงละ 200 บาท สำหรับนักเรียนนักศึกษาลดราคา 50%
ด้วยความสนุก โดยไม่มีกำไรเป็นตัวตั้ง แต่ตั้งธงว่าธุรกิจนี้จะเติมเต็มชุมชนให้สมบูรณ์ โดยมุ่งตอบโจทย์ทุกรูปแบบ ปรากฏว่ากำไรที่ได้รับหลังจากการให้ไปก่อนอยู่ที่ 10-15% ธุรกิจมีศักยภาพสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และคาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 5 ปี หลังจากหมดเงินไปหลายสิบล้านบาทกับการสร้างตึกใหม่ในพื้นที่เกือบ 2 ไร่ บนถนนนางลิ้นจี่
“ความจริงร้านเราไม่ได้ทำโปรโมชั่นอะไร และไม่ได้โฆษณาอะไรด้วย อย่างตอนกลางคืน สิ่งที่สร้างรายได้ให้เราคือ อาหารและเครื่องดื่ม เมื่อก่อนครัวปิดเร็วสัก 1-2 ทุ่ม แต่ทุกวันนี้เราขยายเวลาปิดครัวดึกขึ้นเป็น 5 ทุ่ม ทำให้ยอดขายของเราเพิ่มขึ้น 40% ในช่วงกลางคืน คือตลาดมีความต้องการอยู่แล้ว เราแค่หาสิ่งที่ขาดมาเติม ส่วนหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปที่ครัวปิด จากอาหารสดจะเป็นอาหารโฟรเซ่นแทนเพื่อความสะดวก ในขณะที่เครื่องดื่มเรามีขายตลอด 24 ชั่วโมง”
นี่จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ เพราะในขณะที่ร้านอื่นปิด แต่ Think Tank กลับไฟสว่างเปิดให้บริการตลอด อย่างชมรมปั่นจักรยานก็มาจอดรถทิ้งไว้ที่ร้านตั้งแต่ 4-5 ทุ่ม ปั่นเสร็จแล้วก็กลับมาเข้าห้องน้ำ ใครหิวก็มีอาหารและเครื่องดื่มรองรับ สักตี 1-2 ก็ขับรถกลับบ้าน เน้นความเป็นกันเองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่สมเหตุสมผล อย่างอาหารและเครื่องดื่มราคาเริ่มต้นไม่เกิน 100 บาท ส่วนที่ให้กันฟรีๆ ก็เช่น จอดรถฟรี อินเทอร์เน็ตฟรี น้ำ-ไฟฟรี เสียบปลั๊กใช้งานชาร์จแบตได้แทบทุกจุดของร้าน
ความยากในการบริหารร้านที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง คุณปรัชญา บอกเลยว่า อยู่ที่การบริหารพนักงานที่มีอยู่ 15 คน ให้สามารถทำงานทดแทนหรือหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันได้ตลอด กรณีพนักงานลาป่วย ขาดหรือลากลับบ้าน ในฐานะเอสเอ็มอีหากไม่บริหารงานแบบเถ้าแก่ ลงแรงเอง ก็ต้องพยายามสร้างคนและเรียนรู้ที่จะรักษาคน ให้สามารถทำงานแทนได้ ซึ่งคุณปรัชญายึดแนวทางหลัง ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากเทคนิคกรุงเทพฯ ที่สนใจ ได้มาลองทำงานเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ด้วย
“สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเปิดร้านคอนเซ็ปต์ 24/7 ผมว่ายังมีโอกาสอีกมาก และน่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เพราะพื้นที่สาธารณะในเมืองค่อนข้างน้อย อย่างที่นี่มีลูกค้าเข้ามาประมาณ 200 คนขึ้นไปต่อวัน หากหาทำเลได้ อาจจะทำร้านกาแฟควบคู่ไปกับที่พัก จับตลาดต่างชาติ ไหนๆ กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองท่องเที่ยวอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทำเลที่ตั้งต้องคำนึงความปลอดภัยด้วย แต่ก่อนจะเปิดร้านจริง อาจศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดในเมืองนั้นๆ ก่อน จะเห็นว่าบางเมืองในสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น หรือในยุโรปบางประเทศ ก็ปิดไฟเข้านอนกันเร็วมาก
บางเมืองในญี่ปุ่น 2 ทุ่มห้างก็ปิดเงียบแล้ว เป็นไปได้ว่าเมืองหรือประเทศที่พัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง ผู้คนอาจจะ Back to Basic กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว เพราะการออกนอกบ้านมากเท่าไร ก็เท่ากับห่างจากครอบครัวมากเท่านั้น แต่เราแนะนำว่าให้พาครอบครัวมาด้วย สถานที่ของเราต้องพร้อมตอบโจทย์สำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว” คุณปรัชญา ให้แง่คิดกับคนที่อยากเปิดร้าน 24 ชั่วโมง