คุณวิบูลย์ เล่าว่า ในตอนนั้นธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพในเมืองไทย แบ่งเป็นตลาดบนหรือตลาดล่างไปเลย ตลาดบนเป็นสปาในโรงแรมที่ให้ความสำคัญกับบรรยากาศของสถานที่ บุคลากรต้องหน้าตาสะสวย มารยาทดี แต่ไม่เน้นฝีมือการนวด ส่วนตลาดล่าง ประเภทร้านนวดตามบ้านจะไม่ค่อยคำนึงถึงสุขลักษณะและรูปลักษณ์ของพนักงาน แต่ฝีมือการนวดใช้ได้
“เราอยากจะได้อะไรที่อยู่ตรงกลาง ราคาไม่แพงมาก แต่ต้องถูกสุขลักษณะ คนนวดต้องฝีมือดี เราเลยมาจับตลาดระดับกลางที่เห็นว่ายังมีช่องว่างอยู่ Let’s Relax Spa สาขาแรกจึงเปิดขึ้นที่เชียงใหม่ จับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวเป็นหลัก”
ด้วยมาตรฐานและภาพลักษณ์ความทันสมัยของร้านในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นปัจจัยสำคัญที่เลือกเข้ามาใช้บริการที่ร้าน ส่งผลให้สาขาแรกประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งยังเป็นหนึ่งในสปาที่ได้รับการแนะนำใน Lonely Planet ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคัมภีร์สำหรับนักท่องเที่ยว ช่วยดึงดูดลูกค้าต่างชาติกลุ่มใหม่ให้เข้ามาใช้บริการในยุคก่อนที่โซเชียลมีเดียบูม
“3 บ” หัวใจความสำเร็จของสปา
“แรกเริ่มเราทำธุรกิจในแบรนด์ Let’s Relax Spa เป็นสแตนด์อโลนสปาระดับ 4 ดาว ต่อมาเราจับความต้องการของลูกค้าได้ว่าชอบบรรยากาศและการนวดลักษณะนี้ แต่ต้องการบริการที่ค่อนข้างเอ็กซ์คลูซีฟ เราจึงสร้างแบรนด์ RarinJinda Wellness Spa ขึ้นมาเป็นสปาระดับ 5 ดาว สาขาแรกตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ บนพื้นที่ 3 ไร่ ในรูปแบบของ Resort ที่นี่เราจัดสรรพื้นที่สำหรับสปาถึง 2,500 ตารางเมตร”
เมื่อสาขาแรกสอบผ่าน สาขาต่อไปก็เปิดตามมาแบบค่อยเป็นค่อยไป ปัจจุบันเขาขยาย Let’s Relax Spa และ RarinJinda Wellness Spa รวมกัน 14 สาขา กระจายตัวอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อย่างเชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต หัวหิน สมุย และกรุงเทพฯ โดยลูกค้า 80% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีก 20% เป็นลูกค้าคนไทย
กุญแจความสำเร็จในธุรกิจสปาของสยามเวลเนสกรุ๊ป คือ “แบรนด์” ที่ลูกค้าไว้วางใจ ข้อต่อมาคือ “บรรยากาศ” ของสปาที่มีคอนเซ็ปต์การตกแต่งแตกต่างกันไปในแต่ละสาขา ตลอดจนคุณภาพของ “บุคลากร” นอกจากนี้ เขายังให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่กว่า 40,000 ราย ที่เคยใช้บริการสปาทั้ง 2 แบรนด์ โดยเมื่อมีการเปิดสปาสาขาใหม่ ก็จะมีการส่งข่าวสารไปทางอีเมลให้ลูกค้าได้รับทราบอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2556 บริษัททำรายได้รวมอยู่ที่ 323 ล้านบาท
“ธุรกิจของเราเกี่ยวข้องกับงานบริการ เราจึงไม่คำนึงถึงผลกำไรเป็นหลัก แต่มองว่าเราชอบอย่างไร เราต้องการอย่างไร ลูกค้าของเราก็คงจะต้องการอย่างนั้นเช่นกัน หากเราสามารถทำให้ลูกค้าประทับใจ กลับมาใช้บริการซ้ำ ทั้งยังช่วยบอกต่อให้อีก คราวนี้ผลกำไรจะกลับเข้ามาหาเราเอง”
ระดมทุน สร้างโอกาสในการแข่งขัน
ธุรกิจของเขาไปได้สวย ภายใต้การบริหารแบบงานอดิเรกที่ใช้เวลาหลังเลิกงาน หรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เข้ามาช่วยดูแลกิจการร่วมกับเพื่อนๆ แต่ข่าวการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก็ทำให้ผู้บริหารหนุ่มใหญ่ ฉุกคิดหันกลับมามองธุรกิจสปาว่า ทำเล่นๆ ต่อไปเห็นจะไม่เข้าทีเสียแล้ว
“นอกจากจะมองเห็นโอกาส จากประชากร 60 ล้านคนจะขยายเป็น 600 ล้านคน จาก 1 ประเทศ จะกลายเป็น 10 ประเทศ และเรายังมองเห็นความเสี่ยงจากการเปิด AEC ด้วย เลยมาคุยกับหุ้นส่วนว่า ถ้าจะทำสนุกๆ เป็นงานอดิเรก ก็อยู่อย่างเล็กๆ ขยายเท่าที่ทำได้ แต่ก็จะเหนื่อยกับคู่แข่งที่เข้ามา แต่ถ้าเกิดจะขยายงานเพื่อรองรับ AEC มันก็เป็นโอกาสที่ว่าเราควรจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ maiแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน”
คุณวิบูลย์ใช้เวลา 2 ปี ในการเตรียมความพร้อมบริษัท ปรับระบบการทำงานต่างๆ ให้เข้ากับระบบของตลาดหลักทรัพย์ ขณะเดียวกันก็เตรียมระบบไว้รองรับการขยายงานในอนาคตด้วย เช่น การพัฒนาเว็บเบสโปรแกรม ที่สามารถเข้าไปดูรายรับ-รายจ่ายของแต่ละสาขาได้ทันที ซึ่งช่วยให้คุณวิบูลย์สามารถบริหารจัดการธุรกิจที่มีจำนวนสาขามากๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทั่งเปิดขายหุ้นวันแรกไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557
“นอกจากจะได้ระดมทุนแล้ว ยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรด้วย แม้กลุ่มนักลงทุนจะสงสัยในตอนแรกว่า ธุรกิจสปาเข้าตลาดหุ้นได้ด้วยเหรอ แต่เราก็แสดงให้เห็นว่าธุรกิจของเรามีความมั่นคง มีความสามารถในการทำกำไร และสามารถต่อยอดธุรกิจได้ ขยายงานไปได้เรื่อยๆ อีกอย่างธุรกิจกลุ่มนี้ ภาครัฐก็ส่งเสริมเพื่อให้เมืองไทยเป็น Spa Capital of Asia”
ขยายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
คุณวิบูลย์ ให้แง่คิดกับ SME ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเซกเตอร์ ขอเพียงมีความสามารถในการทำกำไร มีโมเดลธุรกิจที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ การเข้าตลาดหลักทรัพย์จะมีประโยชน์มาก ทั้งในเรื่องการระดมทุน การสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัท แต่ก็ต้องปรับตัวไปตามกฎหรือข้อบังคับต่างๆ ซึ่งจะเป็นผลดีกลับมา
“อย่างสยามเวลเนสกรุ๊ปเราไม่ได้ทำแค่สปาเพียงอย่างเดียว แต่เราทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ มีธุรกิจโรงเรียนสอนสปาและการนวด เพื่อผลิตบุคลากรป้อนให้กับธุรกิจสปาของเรา ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทเพื่อสุขภาพ ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจผลิตภัณฑ์สปา Blooming จะเห็นได้ว่าเราสามารถต่อจิ๊กซอว์ขยายธุรกิจไปได้ทุกทิศทาง อย่างธุรกิจโรงเรียนอาจมีแผนเปิดสอนให้กับบุคคลภายนอกในอนาคต เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเรียกร้องเข้ามามาก”
แต่นาทีนี้ คุณวิบูลย์ขอโฟกัสธุรกิจสปาทั้ง 2 แบรนด์ คือ Let’s Relax Spa และ RarinJinda Wellness Spa เป็นหลัก ล่าสุดเขาเพิ่งจะเปิดตัว RarinJinda Wellness Spa สาขาเพลินจิต ในคอนเซ็ปต์ Rooftop Spa แห่งแรกของเมืองไทย และสำหรับปีต่อๆ ไป เขาตั้งเป้าขยายสาขาอย่างน้อย 3 สาขาต่อปี ซึ่งพลอยทำให้ธุรกิจผลิตภัณฑ์สปาเติบโตตามธุรกิจสปาไปด้วย