วิศัลย์ มองเห็น Global Trend ว่าผู้คนเริ่มไม่นิยมผูกไทด์ใส่เชิ้ตมาทำงาน แต่หันมาแต่งตัวลำลองด้วยเสื้อโปโลแทน ในขณะที่ประเทศไทยก็ได้กระแสจากเสื้อโปโลเหลืองติดตราสัญลักษณ์ในหลวง ถือเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดให้ธุรกิจได้เติบโต ประกอบกับโรงงานส่วนใหญ่ก็ไม่ทำ เพราะเสื้อโปโลเย็บยากกว่า ขั้นตอนมากกว่า เทียบคู่แข่งทางตรงแล้วไม่มี คัฟเวอร์แนนท์ เลยได้กินส่วนแบ่งไปเกินครึ่งตลาด
จากจักรเย็บผ้า 2-3 ตัวในวันแรก 12 ปีผ่านไปโรงงานของเขาขยายใหญ่ขึ้นมาก มีพนักงานกว่า 500 คน รายได้เติบโตไม่หยุด จากศูนย์ขึ้นมาเป็น 200-300 ล้านบาท ถึงวันนี้มีฐานลูกค้าทั้งเสื้อยูนิฟอร์มและเสื้อพรีเมียมที่แจกได้ทั้งปี สร้างยอดออเดอร์ให้บริษัทของเขาเต็มทุกไตรมาส
เขานำคัฟเวอร์แนนท์เดินมาถึงจุดนี้ได้เพราะ “คิดต่าง” โดยลงทุนวิจัยร่วมกับดูปองท์พัฒนานวัตกรรมเส้นใยผ้า ทำให้เสื้อไฮโดรเทคมีคุณสมบัติเด่น คือดูดซับเหงื่อ แห้งเร็ว ระบายอากาศได้ดี เย็นสบายขณะสวมใส่ และป้องกันรังสียูวี
“เราเห็นโอกาสทางการตลาดว่า คนอยากได้สินค้าคุณภาพดี แต่ต้องการจำนวนน้อยและเร็ว เช่น บริษัทรถยนต์หรูต้องการเสื้อคุณภาพดี ติดโลโก้ 300 ตัว ไปแจกลูกค้าตอนเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ซึ่งโรงงานขนาดใหญ่ไม่รับทำ จะรับออเดอร์ผลิตทีละเป็นหมื่นเป็นแสนตัว โดยเอาราคาเป็นที่ตั้ง แล้วกินค่าแรงส่วนต่างนิดเดียว แต่ผมไม่ทำแบบนั้น เราหันมาวิ่งตลาดที่ไม่มีใครตอบสนอง แล้วสร้างแบรนด์ทำคุณภาพให้นำราคา เราขายอยู่ 3 อย่างคือ Speed, Quality และ Low Minimum”
วิศัลย์ เลือกใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงจากอิตาลี ที่สามารถทอผ้าได้วันละ 300 กิโลกรัมต่อวัน แทนที่จะใช้เครื่องจากจีน แม้ต้องลงทุนสูง แต่ได้ผลผลิตมากกว่า 3-4 เท่า ต้นทุนต่อหน่วยจึงต่ำกว่า คุ้มค่าในระยะยาว ทั้งยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับจีนและเวียดนามที่เวลานั้นทำต้นทุนได้ถูก แถมคุณภาพก็ดีขึ้นมาก
เขานำกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์มาปรับใช้กับโรงงานการ์เมนท์ ส่งผลให้ทุกชั่วโมงจะมีเสื้อสำเร็จรูปผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เหมือนโรงงานใหญ่ที่จะรุมผลิตให้เสร็จพร้อมกันในวันสุดท้าย คัฟเวอร์แนนท์จึงสามารถผลิตเสื้อจำนวนน้อยๆ ในต้นทุนต่ำ และงานออกมาเร็ว
“ผมมองว่าถ้าเราทำอะไรเหมือนกับคนอื่น เราก็ต้องแย่งกันกินอยู่ในจานๆ เดียว ทำไมไม่มองออกไปนอกกรอบ เราอาจจะได้กินแบบเต็มจานก็ได้ แต่สิ่งที่ทำต้องตอบโจทย์ตลาดด้วย ตอนแรกอาจต้องยอมลงทุนหน่อย เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ การผลิตมีประสิทธิภาพ แล้วเราจะเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ไม่หวั่นไหวไปกับกลไกราคามากนัก”
คัฟเวอร์แนนท์ เติบโตเฉลี่ยปีละ 30% ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจระดับมหภาค วิศัลย์ จึงเปิดบริษัท วาริกซ์ สปอร์ต จำกัด ขึ้นมาเพื่อผลิตเสื้อกีฬาคุณภาพสูงภายใต้แบรนด์ Warrix เปิดมาได้เพียงปีเดียว สร้างยอดขายถึง 100 ล้านบาท ที่มาของตัวเลขก็มาจากการเจาะตลาดที่ไม่ธรรมดาเลย
“ตอนนี้ตลาดสปอร์ตกำลังโต และเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่เราเน้นเจาะตลาดระดับภูมิภาคก่อน เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา อย่างปีหน้าเราน่าจะได้เซ็นสัญญากับทีมสโมสรฟุตบอล 17 ทีม ระยะเวลาสัญญา 1-3 ปี โดยใช้วิธีซื้อไลเซนส์ นอกจากจะผลิตเสื้อทีมฟุตบอลทีละหลักหมื่น หลักแสนตัวแล้ว เรายังได้สิทธิ์ทำของพรีเมียมทุกอย่างขายด้วย”
ขณะเดียวกัน ก็ออกไปล่าสัญญาทีมชาติประเทศเพื่อนบ้าน จนได้เซ็นสัญญาผลิตเสื้อเซปักตะกร้อและเสื้อฟุตบอลให้กับทีมชาติมาเลเซีย และยังมองไปถึงการเจรจาในสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ เริ่มเล็กๆ ในระดับบอลถ้วย เพื่อสร้างเครดิตและหาช่องทางจำหน่ายสินค้าในยุโรปเขาตั้งเป้าไว้ว่าปีที่ 2 ของวาริกซ์จะทำยอดขายให้ได้ 200 ล้านบาท ปีที่ 3 เพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 400 ล้านบาท ก่อนนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
ถามถึง Key Success ผู้บริหารหนุ่ม บอกว่ามีอยู่ 3 อย่าง หนึ่ง คือ “กลยุทธ์องค์กร” ที่มองตลาดขาดตั้งแต่วันแรกว่า เขาจะเป็นผู้ผลิตและตอบสนองความต้องการที่แตกต่างเรื่องยูนิฟอร์ม เสื้อพรีเมียมและเสื้อกีฬา แล้วก็เดินหน้าสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้
สอง คือ “คน” ที่มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน ปลูกฝังให้คิดแบบเจ้าของธุรกิจ ไม่ใช่ลูกจ้างมืออาชีพ และ สาม คือ “ระบบ” ที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้
“วิกฤตหนักๆ ตอนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โชคดีเราปรับตัวได้เร็ว เพราะผมเห็นการเงินแบบเรียลไทม์ ทั้งยังคาดการณ์ได้ว่า 3 เดือนข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเถ้าแก่ยุคโบราณ อาจรู้เมื่อสาย ปิดงบแล้วถึงจะรู้ว่าขาดทุน ถ้าบริหารด้วยระบบที่ดี เราก็จะปรับตัวรับกับสถานการณ์ได้ไว”
เป้าหมายข้างหน้าของ วิศัลย์ คือการนำวาริกซ์ สปอร์ต เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2560 เพราะหากจะเติบโตมากกว่านี้ จะต้องอาศัยการระดมทุน เพื่อทำให้เกิดต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ ส่วนคัฟเวอร์แนนท์ซึ่งเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำหลัก ก็จะเข้าตลาดทุนตามหลังไปในอีก 2 ปีเช่นกัน