ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

นายกฯ เคาะแผนหนุน SMEs ภาคเกษตร


คุณวีระยุทธ เชื้อไทย รองผู้อำนวยการสำนักบริการผู้ประกอบการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ให้ความสำคัญแก่เอสเอ็มอี อย่างมาก จึงมอบนโยบายด้านการยกระดับให้การส่งเสริมเอสเอ็มอี เป็นวาระแห่งชาติ

 

เริ่มตั้งแต่การย้ายสังกัดของ สสว. ไปอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และปรับลดคณะกรรมการ (บอร์ด) สสว. จาก 2 ชุด คือ บอร์ดส่งเสริม กับ บอร์ดบริหาร ให้เหลือบอร์ดส่งเสริมเพียงอย่างเดียว ขึ้นกับนายกฯ โดยตรง ทำให้การทำงานกระชับ และว่องไวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้สั่งการให้ขยายขอบเขตการส่งเสริมเอสเอ็มอี จากเดิม 3 เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และเพิ่มภาคการเกษตรเข้ามา เนื่องจากเห็นว่าภาคเกษตรเป็นธุรกิจที่สำคัญของประเทศไทย และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อยู่ในกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนั้น ในการประชุมบอร์ดเฉพาะกิจ ได้มีการหารือเพื่อจะหาแนวทางมอบสิทธิพิเศษให้เป็นแรงจูงใจให้แก่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของ สสว. เช่น ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี เงินชดเชยดอกเบี้ย การเข้าถึงแหล่งทุน และการช่วยเหลือการตลาด เป็นต้นซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือถึงข้อสรุปอยู่ จากแผนงานและยุทธศาสตร์ดังกล่าว ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจากการสำรวจความเชื่อมั่นเอสเอ็มอี 2 เดือนล่าสุด ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน และหวังว่าในช่วงปลายปี จะได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้สถานการณ์เอสเอ็มอี ไทย ปรับตัวดียิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-มิ.ย.) เอสเอ็มอีมีการส่งออกสินค้า มูลค่ารวม 980,419.86 ล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (2556) คิดเป็นร้อยละ 14.77 ขณะที่การนำเข้าสินค้าของเอสเอ็มอี มีมูลค่ารวม 1,074,005.84 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 13.2

ศูนย์วิเคราะห์ฯ TMB ชี้ อีคอมเมิร์ซ โอกาสทอง SMEs

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เผยบทความเรื่อง “การค้าผ่าน E-Commerce โอกาสของธุรกิจ SMEs” ว่า ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซเป็นโอกาสทอง ที่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรมองข้ามในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

 

จากผลสำรวจพบว่า ตั้งแต่ ปี 2552 จนถึง ปี 2556 มีผู้ซื้อสินค้าและบริการ ผ่านระบบอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 18.7 ต่อปี มูลค่าซื้อขาย 1.21 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในระยะเวลาเพียง 5 ปี แต่ถึงแม้มูลค่าการซื้อขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้น การค้าผ่านอีคอมเมิร์ซของไทย ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับตลาดของเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรป

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุด้วยว่า จากตัวเลขที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องคาดว่า ปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้จำนวนผู้ซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซไทย เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10-15 ต่อปี ทั้งนี้ สินค้าและบริการที่มีการซื้อจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่ ร้อยละ 34 เป็นสินค้ากลุ่ม แฟชั่น เสื้อผ้า และเครื่องประดับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยตามความนิยม

 

รองลงมา คือ กลุ่มบริการด้านต่างๆ เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน ห้องพัก ส่วนลดต่างๆ ร้อยละ 12 กลุ่มที่ 3 คือ สินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ร้อยละ 11 นี่ถือเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการSMEs ไทย ที่ต้องขยายช่องทางการขายออนไลน์ ตลาดที่ผู้ซื้อนับวันยิ่งทวีคูณ