ถ้าไม่ถามเราก็อาจจะลืมคิดไปว่าเราทำงานโดยยึดอะไรเป็นหลักการกันแน่ เราทำงานโดยใช้อะไรเป็นไอเดียนำทาง และสไตล์การทำงานของคนไทยเราเป็นอย่างไร สิ่งนี้เองที่จะสร้างวัฒนธรรมให้กับองค์กร ซึ่งเป็นเหตุผลที่จะทำให้พนักงานรักและทำงานกับองค์กรแห่งใดแห่งหนึ่งได้นานๆ โดยไม่ได้คิดแต่เรื่องเงินเป็นเหตุผลหลัก
ผมจะยกตัวอย่างสไตล์บริหารธุรกิจร้านอาหาร เพราะเป็นธุรกิจที่ผมคลุกคลีอยู่มากที่สุด เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพในสิ่งที่ผมตั้งคำถาม
มีนักบริหารท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจอาหารสไตล์อเมริกันเน้นเรื่องมาตรฐานของสูตรอาหารเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องรสชาติ หรือความอร่อยเป็นเรื่องรอง จนมีคนกระแนะกระแหนว่าร้านอาหารที่เป็นเชน (Chain) ของอเมริกันนั้นเป็นเลิศเรื่องมาตรฐาน คือ รสชาติอาหารสาขาแรกเป็นอย่างไรเมื่อเปิดในทั่วทุกมุมโลกก็ทำได้รสชาติเหมือนกัน
พิซซ่าที่สาขาใน LA รสชาติเป็นอย่างไร ที่สาขาร้อยเอ็ดก็เหมือนกันเป๊ะว่างั้นเถอะ รวมทั้งแบรนด์ไหนที่อร่อยก็จะอร่อยเหมือนกัน แต่แบรนด์ไหนไม่อร่อยก็ไม่อร่อยเหมือนกันทั่วโลก
ส่วนร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นนั้น ขึ้นชื่อมากเรื่องความพิถีพิถันด้านสูตรอาหารและคุณภาพ ร้านญี่ปุ่นเน้นเรื่องคุณภาพมาเป็นที่หนึ่งครับ ว่ากันว่าร้านอาหารเชนญี่ปุ่นนั้นเน้นรายละเอียดมาก ขนาดเครื่องมือและส่วนผสมบางอย่างก็ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นโดยตรง สูตรอาหารนั้นต้องแม่นเป๊ะทุกขั้นตอน
ในบางขั้นตอนอาจจะซับซ้อนและยุ่งยากทีเดียว เช่น มีดแล่ปลาสำหรับซูชิของแท้ก็ต้องตีด้วยช่างตีมีดเมืองซามูไร และแล่ปลาด้วยขั้นตอนมาตรฐานญี่ปุ่น ร้านอาหารเชนญี่ปุ่นจึงทำยากกว่าเชนอเมริกัน โดยภาพรวมเราจึงเห็นว่าร้านแบรนด์อเมริกันนั้นยึดตลาดร้านอาหารในเมืองไทยได้มากกว่าแบรนด์ญี่ปุ่น
ถ้าอย่างนั้นเราก็สรุปว่าคนอเมริกันเก่งกว่าญี่ปุ่น สไตล์อเมริกันดีกว่าสไตล์ญี่ปุ่นอย่างนั้นหรือ ช้าก่อน ประเด็นนี้ยังไม่ได้สรุปกันง่ายๆ ถ้าไปถามนักชิมก็จะบอกว่าสูตรและรสชาติของอาหารญี่ปุ่นนั้นประณีตและล้ำเลิศกว่าอเมริกันมากมายเชียว และความประณีตละเอียดลออของอาหารนี่เองทำให้ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นมีคอนเซ็ปต์ชัดมาก ทำแล้วหาคู่แข่งได้ยาก โอกาสประสบความสำเร็จก็มากด้วย (ถ้าสามารถทำได้ตามต้นตำรับ)
ถ้าไปถามนักธุรกิจในวงการร้านอาหารเขาก็จะให้เครดิตการบริหารร้านสไตล์อเมริกันว่ามีความชัดเจน และมีจุดเด่นในเรื่องระบบและมาตรฐาน การดำเนินธุรกิจร้านอาหารสไตล์อเมริกันจึงทำได้ง่ายกว่า เพราะมีขั้นตอนชัดเจน การทำงานมีตัวชี้วัดที่เป็นระบบ เช่น การเก็บสถิติข้อมูลการขายและการบริหารวัตถุดิบ การควบคุมต้นทุน การทำสูตรอาหารมาตรฐานและขั้นตอนการปรุงมีระบบ รวมถึงขั้นตอนการฝึกคนที่มีแบบแผน ที่สำคัญวิธีการทำการตลาดที่เราต่างก็ยอมรับว่าสำนักอเมริกันเขาโดดเด่นกว่าจริงๆ
หากศึกษาธุรกิจอื่นๆ ผมก็เชื่อว่าไม่มีสไตล์การดำเนินธุรกิจ หรือสไตล์การทำงานของใครดีกว่าใคร ข้อสำคัญก็คือว่าเราคนไทยมีสไตล์การทำงานแบบไหน เป็นสไตล์การทำงานแบบของเราเอง หรือปรับใช้สไตล์ของชาติอื่นมาใช้อย่างไร
เราจะเน้นคุณภาพสินค้าเป็นสำคัญเหมือนคนญี่ปุ่น หรือเราจะบูชามาตรฐานสินค้าและระบบการทำงานอย่างคนอเมริกัน
สำหรับผู้ที่อยู่ในธุรกิจอาหารผมอยากให้ศึกษาสไตล์ธุรกิจร้านอาหารของคนญี่ปุ่น เพราะคนไทยเราขาดในเรื่องการคิดค้นและพัฒนาสินค้า ที่เป็นอย่างนี้ไม่ต้องคิดว่าคนไทยเราไม่ขยัน หรือมักง่ายคอยแต่จะลอกเลียนคนอื่นนะครับ
ที่เรายังขาดแคลนนักประดิษฐ์ มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้อยกว่าคนญี่ปุ่น เพราะพื้นฐานนิสัยคนไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องการพัฒนาคิดค้น การศึกษาของเราก็เน้นการท่องจำมากกว่าให้คิดวิเคราะห์ ในขณะที่คนญี่ปุ่นเป็นนักประดิษฐ์ตัวยง และระบบการศึกษาของเขาก็เน้นการคิดวิเคราะห์ เน้นการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง
ดูง่ายๆ ในรายการทีวีที่แนะนำร้านอาหารในญี่ปุ่นเขาจะโชว์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำสูตรอาหารให้ออกมาไม่เหมือนใคร ต้องเรียกว่าเขามีอุดมคติในการคิดค้นสูตรอาหารมากจริงๆ เช่น เบเกอรี่สไตล์ญี่ปุ่นมีแบบฉบับเฉพาะตัวโดดเด่นมาก ถึงแม้ว่าคนญี่ปุ่นจะรับวัฒนธรรมการทำเบเกอรี่หรือขนมอบมาจากตะวันตก แต่เขาก็สามารถคิดค้นและสร้างเบเกอรี่เป็นแบบฉบับของตัวเองได้ เช่น ชีสเค้กแบบญี่ปุ่น หรือเค้กโรลไส้ครีมสดที่โด่งดังมาก ถึงขั้นคนต่อแถวซื้อกันยาวเหยียด (ลูกค้าตัวจริงไม่ใช่หน้าม้าจัดตั้งเพื่อสร้างกระแส)
คนญี่ปุ่นรับอิทธิพลลัทธิขงจื๊อ ที่เชื่อว่าคนในสังคมถูกกำหนดให้อยู่ในระดับชั้นที่แตกต่างกัน และเรื่องที่ผมเห็นว่าคนไทยที่อยู่ในธุรกิจบริการควรนำมาคิดอย่างยิ่ง คือ คนญี่ปุ่นเชื่อว่า “ผู้ซื้อ” นั้นอยู่ในระดับชั้นที่สูงกว่า “ผู้ขาย” จะสังเกตว่าพนักงานขายญี่ปุ่นให้เกียรติลูกค้าของเขาอย่างมาก เรียกว่าคนญี่ปุ่นนั้นหัวใจบริการ (Service Mind) อยู่ในระดับขนบธรรมเนียมทางสังคมเลยทีเดียว
ผมแค่ต้องการให้คนทำงานไม่ว่าจะในฐานะเจ้าของกิจการหรือลูกจ้างได้ตั้งสติและคิดเสียหน่อยว่าเราจะยึดมั่นหรือบูชาอะไรในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัศนคติในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีเลิศ หรือแนวคิดดีๆ ดีในการทำงานเพื่อให้เรายึดมั่น เช่น การทุ่มเทพัฒนาสินค้าอย่างคนญี่ปุ่น หรือการสร้างระบบการทำงานและรักษามาตรฐานสินค้าและบริการอย่างคนอเมริกัน หรือจะคิดระบบการทำงานที่เหมาะกับคนไทยและทำให้ได้ผลงานเป็นเลิศโดยยังคงรักษานิสัยไทยๆ ของเราไว้ก็ได้
เพื่อเราจะได้ไม่ต้องมาแก้ตัว และแก้ปัญหาแบบองุ่นเปรี้ยวว่าคนไทยเราก็อย่างนี้แหละรักความสันโดษ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ค่อยมีวินัย และไม่ค่อยมีระบบ เป็นตัวของตัวเอง ทำงานเป็นทีมได้แต่ไม่ค่อยเวิร์ค เพราะเมื่อเราเปิดประเทศและต้องแข่งขันกับเพื่อนบ้านและตลาดโลก
เราจะต้องปรับตัวเพื่อสู้อย่างเดียว คงไม่มีใครฟังหรือยอมอ่อนข้อให้กับข้อแก้ตัวของเราแน่นอน