6 ตัวชี้วัดความสำเร็จของแบรนด์ หมุดหมายที่ต้องรู้ว่าแบรนด์โตแค่ไหน
ความสำเร็จของแบรนด์ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ไว้ให้ดี นอกจากจะเป็นความภาคภูมิใจเพราะเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญแล้ว มันยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าแบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน ถูกใจกลุ่มผู้บริโภคมากเท่าไร การเข้าใจในเรื่องของความสำเร็จของแบรนด์จะช่วยให้คุณสามารถประเมินศักยภาพของตัวคุณเอง ว่าสิ่งที่คุณเป็นสิ่งที่คุณทำและสิ่งที่คุณสื่อสารนั้นมันประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
1.วัดที่ Brand Awareness
หากอยากรู้ว่าแบรนด์เราดังแค่ไหน ก็ต้องรู้ว่าสินค้าหรือบริการของเราอยู่ในสายตาและการรับรู้ของผู้บริโภค โดยสามารถจำแนกได้ 2 แบบคือ
-การวัดเชิงปริมาณ : วัดจำนวนคนที่รับรู้การมีอยู่ของแบรนด์เราอาจมาจากทั้งการทำคอนเทนต์รูปภาพ-วิดิโอลงแฟนเพจ รวมไปถึงการเข้าคลิกดูเว็บไซต์แล้วมาดูที่ยอดผู้ติดตาม ยอดกดไลก์ กดแชร์ จำนวนคนคอมเมนต์ตามโพสต์ต่าง ๆ ยิ่งมากเท่าไร แสดงว่าแบรนด์เราติดตลาดและสำเร็จไปมากระดับนึงแล้ว
-การวัดเชิงคุณภาพ : การสอบถามจากลูกค้าโดยตรงว่ารู้สึกอย่างไรกับแบรนด์ ชอบและไม่ชอบตรงไหนในตัวของสินค้าและแบรนด์ทั้งหมด ยิ่งผลออกไปทางบวกก็ยิ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจมากขึ้นไปอีก
2. การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
ต้องมาดูว่าผู้ใช้งานสินค้าและบริการของเรา มีกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งใจไว้อยู่เท่าไร สามารถสร้างกลุ่มเป้าหมายเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน ผลลัพธ์นี้จะออกมาในรูปแบบของเปอร์เซ็นยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อนำไปเทียบกับคู่แข่งที่ขายของประเภทเดียวกัน ยิ่งมีทิศทางบวกที่มากจะทำให้แบรนด์อยู่ในสายตาผู้บริโภคมากขึ้น ความนิยมก็มากขึ้นตามไปด้วย
3.ความชื่นชอบในแบรนด์
ตัวชี้วัดนี้จะโฟกัสไปที่ความรู้สึกของผู้บริโภคโดยตรง สิ่งที่เกิดจากประสบการณ์ทั้งการซื้อสินค้าไปใช้งานว่าตอบโจทย์ผู้บริโภคมากหรือน้อยเพียงใด คุณภาพเป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่ ทั้งยังรวมไปถึงการบริการทั้งขณะซื้อและหลังการขายด้วย ลูกค้ามักต้องการการบริการที่ดี ใส่ใจดูแลอย่างเต็มที่ ยิ่งตอบสนองจุดนี้ได้ดีก็เพิ่มความนิยมไปอีกขั้น เมื่อทิศทางลมเป็นเชิงบวก นั่นคือแบรนด์คุณดังอย่างไม่ต้องสงสัย
4.หนึ่งในใจผู้บริโภคไทย
วิธีที่วัดง่ายที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุด บ้าน ๆ ที่สุด คือถามเลยว่า “ถ้าพูดถึงสินค้าขนิดนี้ คุณนึกถึงแบรนด์ใด?” ถ้าคุณขายอาหาร น้ำหอม รองเท้า เครื่องดื่ม ขนม คอนโด บ้าน หรือใด ๆ ก็แล้วแต่ แล้วเขานึกถึงแบรนด์คุณเป็นอันดับแรก ๆ คุณทำสำเร็จแล้ว คุณเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าแล้วเรียบร้อย
5.อยู่ในใจและฝังลึกในความทรงจำ
สินค้าที่ดีคือสินค้าที่คุณภาพได้และมีเอกลักษณ์ในตัวมันเอง สิ่งนี้ก็สามารถสอบถามจากลูกค้าในเรื่องความชอบได้เหมือนกัน หรือถามเปรียบเทียบเลยก็ได้ว่าระหว่างเรากับแบรนด์คู่แข่งจะเลือกฝั่งไหน คำตอบนั้นจะสะท้อนได้เองว่า “ลูกค้าจดจำแบรนด์ของคุณได้มากน้อยแค่ไหน”
6.มูลค่าในตลาด
นำทุกข้อที่กล่าวมามารวมกันในข้อนี้ เหมือนเป็นตัวชี้วัดสุดท้ายว่าแบรนด์เราสำเร็จจริงใช่หรือไม่ เมื่อสำรวจตรวจสอบและเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้วแบรนด์เรากลายเป็นเบอร์ต้น ๆ ในวงการเมื่อไร แสดงว่าคุณและทีมงานสามารถพาทั้งองค์กรมาถึงจุดที่เรียกว่า “Success” ได้แล้วนั่นเอง
ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ : คลิก
ติดตามบทความ How to ที่น่าสนใจได้ที่ : คลิก