ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

5 ข้อควรคิด ก่อนเริ่มทำธุรกิจ “ส่วนตัว” และควรวางแผนอย่างไร หากต้องขยายสาขาในอนาคต


ธุรกิจส่วนตัว เป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่หรือพนักงานที่ผ่านการทำงานมา แล้วนับสิบปีก็ตาม แต่การที่เราจะก้าวไปถึงฝั่งฝันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าใดนัก

ในวันนี้ ชี้ช่องรวย เลยนำข้อคิดมาฝาก หากจะทำธุรกิจส่วนตัวประเภทใดสักอย่าง จะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ดังนี้

1.ธุรกิจที่จะทำเหมาะกับเรามากน้อยอย่างไร

ก่อนคิดที่จะทำธุรกิจส่วนตัว ต้องดูความเหมาะสมทั้งทักษะที่เรามี ความชอบ หรือความรักในสิ่งที่จะทำ รวมไปถึงคู่แข่งในตลาด ไม่อย่างนั้นเส้นทางที่คิดไว้อาจยากกว่าเดิมจนทำให้ถอดใจแต่เนิ่นๆ เลยก็ได้

เหตุผลเพราะ ทักษะที่มี จะช่วยในการย่นระยะเวลาการทำธุรกิจ ทำให้ทำสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น เช่น ถ้าเรามีทักษะทางบัญชี เราก็สามารถจัดการการเงินได้ลงตัวกว่าไม่มี หรือถ้าเรามีทักษะด้านการทำอาหาร เราก็สามารถเปิดร้านอาหารได้โดยที่ไม่ต้องไปเรียนที่ไหนเพิ่มมากนัก

หรือแม้แต่ ความชอบ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการทำงานที่จะทำให้เราจดจ่อ มีสมาธิกับสิ่งต่างๆ ได้มากกว่า รวมถึงทำให้เรามีแรงสู้เมื่อเผชิญกับปัญหา และมีความสุขกับการทำงานแม้ใช้เวลานานก็ตาม

คู่แข่ง ทุกธุรกิจย่อมมีคู่แข่งไม่ว่สช้าหรือเร็ว แต่จะดีกว่าถ้าไม่กระโดดลงไปทำธุรกิจที่มีคู่แข่ง อยู่เต็มตลาด หรือขายของที่มีคนขายอยู่เต็มพื้นที่ เพราะกว่าเราจะได้กำไรจากธุรกิจนั้นๆ คงต้องลงทุนไปอย่างมหาศาลเลยทีเดียว

2. เงินทุน คือปัจจัยหลัก

ก่อนทำธุรกิจ สิ่งที่ควรทำ คือ การวางแผนการเงินเสียก่อน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในระยะเริ่มต้น ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันในอนาคตสำหรับลงทุน ที่สำคัญ อย่านำค่าใช้จ่ายในการลงทุนมารวมกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว ไม่อย่างนั้นจะจัดการด้านการเงินลำบาก มีหลายธุรกิจที่ดูเหมือนไปได้สวย แต่พลาดง่ายๆ กับการใช้เงินที่หมุนในธุรกิจอย่างไม่มีการวางแผนมาแล้ว

3.ห้ามขาดแผนธุรกิจ

แผนธุรกิจ เปรียบเสมือนเครื่องนำทางชั้นยอดในการลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร ประเภทไหน ก็ต้องการการวางแผนล่วงหน้าด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น

-รายรับ เราได้เงินจากไหน ลูกค้าเป็นคนกลุ่มไหน เช่น เราลงทุนขายขนมหน้าโรงเรียน มีลูกค้าเป็นนักเรียน เราต้องขายขนมอะไรที่เด็กสมัยนี้อยากซื้อบ้าง

-รายจ่าย ต้นทุนของเราเท่าไหร่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่ ค่าโฆษณา ค่าจ้างคน มีอะไรต้องเสียหรือไม่

-กำไร ต้นทุนกับราคาทำธุรกิจนี้แล้วคุ้มค่าหรือไม่ ควรลดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่นด้วย

-พื้นที่ การลงทุนธุรกิจต้องอาศัยพื้นที่หรือเปล่า ถ้าเป็นการขายของทางอินเทอร์เน็ตจะต้องมีที่เก็บสินค้าหรือไม่ อย่างไร

4.ต้องใช้คนขนาดไหน

ต่อให้เป็นธุรกิจส่วนตัว แต่มันคงเดินหน้าต่อไปได้ยากหากไม่ได้รับความร่วมมือกับคนอื่นๆ หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจ เมื่อลงทุนต้องคิดก่อนเลยครับว่าต้องใช้คนมากแค่ไหน

สมมติ นาย ก. ต้องการทำธุรกิจขายส่งสินค้าออนไลน์ นาย ก. ต้องสังเกตแล้วว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทไหน ลำบากในการจัดส่งหรือไม่ ตัวนาย ก. สามารถขับรถเพื่อส่งของได้รึเปล่า ถ้าทำไม่ได้ ต้องใช้คนช่วยในจุดไหน หรือถ้าออเดอร์เยอะขึ้น ต้องเพิ่มคนในส่วนใด เช่น

-คนซื้อเยอะ อาจต้องเพิ่มคนแพ็คของ คนส่งของ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต

-คนซื้อน้อย อาจต้องพิจารณาหาฝ่ายขายซักคน หรือเลือกคนมีความสามารถมาเพื่อติดต่องาน เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากปริมาณคน เรายังต้องคำนึงถึงค่าจ้างและความคุ้มค่าหากเราต้องเสียเงินจ้างใครซักคนเข้ามาในทีมตัวเองด้วยนะครับ

5.การจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

สิ่งสุดท้ายที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ แม้เราอยากจะเติบโตไวในธุรกิจส่วนตัวที่เราถนัด แต่สุดท้ายยังมีปัจจัยอีกมากที่ส่งผลกระทบในธุรกิจของเราครับ ทุกคนที่อยากทำธุรกิจส่วนตัวจึง ควรประเมินความเสี่ยงของตัวเองเสียก่อน

ความเสี่ยงประเมินได้อย่างไร?

ก่อนอื่นต้องมีการมองภาพกว้างและคำนึงถึงเหตุการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น คู่แข่งลดราคาสินค้าเพื่อแข่งกับเรา มีบริษัทใหญ่ลงมาเล่นในตลาด ปัญหาการจัดส่งสินค้า หรือแม้แต่ปัญหาระดับตัวบุคคล แน่นอนว่ามันคงเป็นเรื่องน่าปวดหัวไม่น้อย แต่คิดไว้ล่วงหน้าย่อมดีกว่า

หลังจากนั้น เราต้องทำการจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจเป็นการแบ่งความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลล่วงหน้าว่า หากเกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้น ใครจะรับผิดชอบในส่วนไหน หรือเลือกจะลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เลือกจะเลิกขายสินค้าที่ขายแล้วขาดทุน เป็นต้น

ต่อมา เมื่อธุรกิจของคุณเติบโตมาได้ในระยะหนึ่ง จนถึงขั้นที่ควรจะต้องขยายกิจการสาขา ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นจะต้องจัดทำให้เวลาต่อมาก็คือ การทำ “คู่มือธุรกิจ” หรือ “Operation Manual” ที่มีเนื้อหาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้สาขาลูก หรือผู้ที่จะมาดูแลสาขาของคุณได้ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนไปในทิศทางเดียวกัน เพราะ “คู่มือธุรกิจ” ที่ว่านี้เป็นเหมือนใบเบิกทางที่จะช่วยให้คุณสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตไปได้อีกไกลในอนาคต

บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 เทคนิค บวก 1 “Operation Manual” ทำ “แฟรนไชส์” ให้รวยไว และยั่งยืน

รู้ไหม ทำไม! “แฟรนไชส์มือใหม่” ต้องทำ “Operation Manual” เพื่อให้กิจการไปต่อได้ไม่สะดุด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เงินติดล้อ