ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เทคนิคออกแบบ “ร้านกาแฟ” ตามหลัก “ฮวงจุ้ย” เสริมโชคให้ธุรกิจ (ฉบับละเอียด ตอนจบ)


เดินทางมาถึงตอนสุดท้าย ในตอนนี้จะเน้นรายละเอียดของการดูหลักฮวงจุ้ยภายในร้าน ตั้งแต่ประตูทางเข้า ไปจนถึงหลังร้าน มาดูกันเลยว่าจะมีอะไรบ้าง

การวิเคราะห์ภายในร้าน (ตี้หลี่)

เมื่อการออกแบบภายในตามศาสตร์ฮวงจุ้ยมีอิทธิพลต่อความรุ่งเรืองของกิจการต่างๆ อย่างครบถ้วนเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง โดยสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาในการออกแบบ ดังนี้

1.1 ตำแหน่งประตูทางเข้า-ทางออก

ประตูอาคาร คือจุดเปลี่ยนจากสภาวะภายนอกอาคารที่เป็นหยางเข้ามาสู่ภายในอาคารที่เป็นหยิน ในขณะเดียวกันประตูยังเป็นจุดเปิดรับกระแสปราณที่จะพัดเข้าสู่ภายในอาคารด้วย จึงมีผลต่อความรุ่งเรืองของกิจการชัดเจนกว่าทิศของถนนหน้าที่ดิน

หากในกรณีที่ประตูทางเข้าอาคารไม่ได้ตั้งอยู่ด้านเดียวกับถนนหน้าโครงการ ก็ให้ถือประตูเข้าอาคารเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณา โดยให้พิจารณาตำแหน่งการหันจากหลักการเดียวกับทิศถนนหน้าโครงการ และคุณสมบัติของแต่ละทิศ ในข้อ 1.1

ส่วนในกรณีที่ประตูหันเฉียงไม่ตรงทิศใดทิศหนึ่ง ก็ให้นำเอาคุณสมบัติของทิศทั้งสองรวมกันแล้วพิจารณาว่าประตูหันเฉียงไปทางทิศใดมากหรือน้อยกว่ากัน โดยให้น้ำหนักทิศที่เป็นทิศหลักมากกว่า เช่น อาคารหันหน้าไปทางทิศใต้ แต่เฉียงไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย นั่นก็หมายถึงร้านนี้จะดัง มีชื่อเสียงแต่ทำกำไรได้ไม่ดีนักนั่นเอง

นอกจากนี้ลักษณะของประตูหน้าและประตูหลังต้องสัมพันธ์กันด้วย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับร่างกายของมนุษย์แล้ว ประตูทางเข้าเปรียบเหมือนปาดอ้ารับอาหาร และประตูทางออกหลังร้านเปรียบเหมือนทวารหนักที่ทำหน้าที่ถ่ายกากอาหาร ดังนั้น บานเปิดประตูทางเข้าก็จะต้องใหญ่กว่าประตูทางออกด้วย

ทีนี้คงเกิดคำถามว่า ร้านที่ไม่มีประตูทางออกด้านหลังจะทำอย่างไร

ลักษณะร้านดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในวิสัยที่จะประกอบกิจการให้รุ่งเรืองได้ แต่มีข้อห้ามอยู่อย่างเดียว คือห้ามนอนพักค้างที่ร้าน เพราะประตูหลังมีนัยส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าความรุ่งเรืองของกิจการ

1.2 ระดับพื้นชั้นล่างของอาคาร

ในศาสตร์เฟิงสุ่ย ถือว่าความรุ่งเรืองและทรัพย์จะมาพร้อมกับลม ในลมจะมีปราณที่เรียกว่า ฟู๋ชี่ หรือฮกขี่ ตามกล่าวข้างต้น ซึ่งธรรมชาติการไหลของกระแสชี่ชนิดนี้ จะมีลักษณะคล้ายกับการไหลของน้ำที่จะต้องไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หากมีธรณีมาขวาง หรือการยกระดับพื้นสูงขึ้น กระแสปราณก็จะไม่สามารถไหลเข้าสู่ส่วนที่ลึกที่สุดของตัวอาคารได้ ในทำนองเดียวกัน สิ่งกีดขวางดังกล่าวเปรียบเหมือนด่านเก็บกักกระแสลมไว้ภายในอาคารก่อน แล้วบังคับทิศทางให้ปล่อยออกสู่ภายนอกอาคารด้านหลังอีกครั้ง หากเปรียบเทียบกับร่างกายของมนุษย์ ก็เหมือนการรับประมานอาหารเข้าไปในร่างกายด้วยปาก (ประตูหน้า) อาหารจะไหลลงสู่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะเป็นกระบวนการดูดซับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารนั้นไว้ให้ได้มากที่สุด แล้วจึงปล่อยออกเป็นของเสียทางทวารหลัก (ประตูหลัง)

ดังนั้น การออกแบบระดับพื้นอาคารจะต้องใช้หลักเกณฑ์การไหลของกระแสชี่นี้โดยต้องให้ด้านหน้าทางเข้าสูงกว่าด้านหลังทางออก ดังนี้

นอกจากนี้พื้นภายในไม่ควรเล่นระดับแบบยกสูงขึ้นกว่าประตูทางเข้า แต่ควรเล่นระดับแบบต่ำลงไปจากประตูทางเข้าด้านหน้าเท่านั้น เพื่อให้กระแสปราณไหลอย่างสะดวกและต่อเนื่อง ส่วนการกั้นผนังนั้น กระทำเพื่อกำหนดทิศทางการไหลของกระแสปราณให้กักเก็บไว้ในอาคารให้นานขึ้น เพื่อการดูดซับปราณไว้ให้ได้มากที่สุด ดังนั้น วิธีการกั้นผนังจะต้องกระทำเพื่อต้อนพากระแสปราณไปในทิศทางที่ต้องการ อีกทั้งอาจใช้วิธีลดระดับพื้นต่ำลงไป เพื่อเร่งการไหลของกระแสปราณไปยังส่วนลึกสุดของอาคารหรือไปออกที่ประตูหลังได้ด้วย

1.3 ห้องน้ำ

ห้องน้ำในที่นี้หมายถึงห้องที่จะต้องมีส้วมหรือชักโครกเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งในศาสตร์เฟิงสุ่ย ถือว่าห้องน้ำเป็นที่เก็บทรัพย์สำคัญ เพราะหากเปรียบกับการทำงานของร่างกายมนุษย์แล้ว กากอาหารซึ่งยังคงเหลือคุณค่าอยู่ก็คือทรัพย์นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ตำแหน่งการวางห้องน้ำที่เหมาะสมที่สุด คือส่วนลึกที่สุดของอาคารและให้มีระยะห่างจากประตูทางเข้ามากที่สุด โดยไม่จำเป็นว่าจะมีประตูออกด้านหลังหรือไม่

ข้อพิจารณาการออกแบบห้องน้ำ

  1. ประตูต้องไม่เปิดทิศทางเดียวกับประตูทางเข้าเพราะหากอยู่ทิศทางเดียวกันหรือตรงกัน จะทำให้การกักเก็บทรัพย์ไม่อยู่ ได้มาเท่าไรก็จะสะท้อนออกให้หมด
  2. หัวส้วมหรือชักโครก ไม่ควรหันหน้าออกประตูหน้า และไม่ควรหันหลังให้ประตูหน้า แต่ควรหันหน้าให้ประตูหน้าเท่านั้นการหันหน้าออกประตูทางเข้าร้าน แสดงถึงความเปิดเผย ซึ่งจะทำให้คนอื่นรู้เคล็ดลับต่างๆ ที่เราใช้ในการดำเนินกิจการได้ ส่วนการหันหลังให้ประตูทางเข้าร้านก็เปรียบเหมือนการหันหลังให้สังคม ไม่สนใจเหตุการณ์ภายนอก ซึ่งทั้งสองอย่างก็ไม่เหมาะสำหรับการดำเนินธุรกิจทั้งนั้น
  3. ห้องน้ำห้ามมีธรณีประตู ควรลดระดับลงไปกว่าพื้นทั่วไปโดยไม่มีธรณีประตูธรณีประตูห้องน้ำจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลื่นไหลของกระแสชี่ ซึ่งจะไหลเข้ามากักเก็บไว้ ดังนั้น จึงขอเน้นว่าห้ามมีธรณีประตูห้องน้ำเด็ดขาด

1.4 องค์ประกอบอื่นๆ

  • ตำแหน่งเครื่องไฟฟ้า เช่นเครื่องชงกาแฟ เครื่องบดกาแฟ ควรจัดวางไว้โซนเสือของร้าน (เมื่อมองเข้าร้านจะอยู่ด้านซ้าย)
  • ตำแหน่งซิงค์น้ำ ควรอยู่ด้านข้างของเตาต้มกาแฟ ไม่ควรอยู่ด้านตรงกันข้าม
  • ตำแหน่งเครื่องเก็บเงิน ควรอยู่ในส่วนลึกเข้าไปใน หากมีห้องน้ำให้อยู่หน้าห้องน้ำหรืออยู่ด้านข้าง
  • การจัดวางเฟอร์นิเจอร์

สำหรับธุรกิจร้านกาแฟ เคาน์เตอร์ถือเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลัก เพราะเป็นที่ตั้งของอุปกรณ์หลักในการทำธุรกิจ ทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ในการชงกาแฟ เครื่องเก็บเงิน อีกทั้งมีส่วนเชื่อมต่อกับซิงค์น้ำด้วย ตามปกติแล้วเคาน์เตอร์ส่วนใหญ่จะมีผนังกั้นด้านหลังหรือมีผนังกั้นห้อง ซึ่งส่วนประกอบทั้งสองมีคุณสมบัติในการทำหน้าที่เป็นตัวต้อนพากระแสปราณให้ไหลเบี่ยงขวาคล้ายลักษณะของลำไส้ เพื่อยืดระยะทางของกระแสปราณแห่งความรุ่งเรืองให้อยู่ในร้านนานขึ้น ดังนั้น การออกแบบเคาน์เตอร์ที่ดีจึงควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ข้างต้นนี้

นอกจากนี้สำหรับร้านกาแฟแบบ Stand Alone ที่ต้องจัดพื้นที่สำหรับวางชุดโต๊ะเก้าอี้ก็ควรจะจัดวางให้มีช่องทางเดินที่สามารถนำไปสู่ประตูทางออกด้านหลังได้ และถ้าจะให้ดีก็ควรวางเป็นแถวสลับไปมา เพื่อยืดระยะทางของกระแสปราณให้มากที่สุดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การชี้ชัดว่าการออกแบบร้านควรเป็นอย่างไรนั้น จักต้องนำเอาตัวแปรอื่นๆ เข้ามาร่วมพิจารณาเพื่อความเข้มข้นและความเชื่อมั่นในธุรกิจด้วย บางอย่างขึ้นอยู่กับวันเดือนปีเกิดของเจ้าของกิจการ เช่น สีสัน ซึ่งในธุรกิจร้านกาแฟมักนิยมออกแบบอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มโทนสีธรรมชาติ (Earth Tone) กับกลุ่มออกแบบสมัยใหม่ (Modern) ที่มักจะใช้สีแรงเข้ามาประกอบหรือใช้เน้นบางจุด ซึ่งการเลือกใช้สีนั้นสามารถดูได้จากตำราโฉลกสีประจำวันเกิดทั่วไป

1.5 การเลือกตำแหน่งร้ากาแฟในรูปแบบช็อป บูธ หรือคีออสก์

สำหรับการเลือกตำแหน่งร้านกาแฟประเภทช็อปและบูธนั้น จะใช้เหมือนกับข้อ 1.2 ในการจัดโซนที่ตั้งของร้านทั้งในแง่ของบารมี-ความพลุกพล่าน และโซนเสือ-โซนมังกร ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อกิจการแตกต่างกันออกไป

ดังนั้น การพิจารณาเลือกโซน นอกจากจะคำนึงถึงความเจริญรุ่งเรืองของกิจการแล้ว ยังต้องพิจารณาจริต-ลักษณะพื้นฐานในการบริหารกิจการที่อยากจะให้เป็นอีกด้วย

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่มิอาจมองข้ามโดยเด็ดขาดในกรณีที่ร้านอยู่ในอาคารขนาดใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ที่ชั้นที่เท่าไรก็ตาม จะต้องพิจารณาถึงการออกแบบระดับพื้น ตำแหน่งห้องน้ำอาคารนั้นเป็นประเภทแรก เนื่องจากอิทธิพลดังกล่าวจะส่งผลประกอบการในพื้นที่ทั้งหมดของอาคารนั้นๆ

บทสรุปปัจจัยประกอบการพิจารณาด้านฮวงจุ้ยเพื่อการลงทุน

การใช้ศาสตร์เฟิงสุ่ยมาช่วยส่งเสริมธุรกิจนั้น นอกจากต้องวิเคราะห์จากหลักพื้นฐานข้างต้นแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการพิจารณาสัดส่วนเฉพาะของแต่ละอาคาร (Proportion) ด้วย ดังนั้น การเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำอีกครั้ง ก็จะสามารถชี้ชัดและป้องกันข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจถูกมองข้ามได้

สำหรับเจ้าของกิจการคนใดว่าจ้างสถาปนิกหรือมัณฑนากรให้เป็นผู้ออกแบบควรทำความเข้าใจล่วงหน้าว่าต้องทำงานร่วมกับซินแสหรือผู้ให้คำปรึกษาเรื่องเฟิงสุ่ย-เพื่อให้การออกแบบร้านลงตัวและเป็นไปตามที่เจ้าของกิจการต้องการ

อ่านเพิ่มเติม

เทคนิคออกแบบ “ร้านกาแฟ” ตามหลัก “ฮวงจุ้ย” เสริมโชคให้ธุรกิจ (ฉบับละเอียด ตอนที่ 1)

เทคนิคออกแบบ “ร้านกาแฟ” ตามหลัก “ฮวงจุ้ย” เสริมโชคให้ธุรกิจ (ฉบับละเอียด ตอนที่ 2)