ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

สูตรเด็ดเคล็ดไม่ลับ! 5 ขั้นตอนเปลี่ยน “กิจการ” ของตัวเองให้เป็น “แฟรนไชส์” ต่อยอดกำไรสู่อนาคต


หลายคนที่เปิดดำเนินกิจการมาได้สักระยะหนึ่ง และต้องการจะขยายต่อยอดธุรกิจ แต่ติดขัดด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของเงินทุน จึงต้องมองหารูปแบบการขยายกิจการที่มีความเสี่ยงน้อย ต้นทุนต่ำ และ การขยายในรูปแบบ “แฟรนไชส์” ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

ทำไมจึงมองว่ารูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์ดูเหมาะสมที่สุด นั่นเป็นเพราะ คนรุ่นใหม่ที่หลังจากเรียนจบแล้วมักไม่อยากจะทำงานประจำกันแล้ว แต่อยากจะเป็นเจ้าของกิจการหรือร้านอาหารเครื่องดื่มเล็กๆ นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งรวมทั้งสถาบันการเงินก็ยังให้การสนับสนุนในเรื่องการให้ความรู้และเงินทุนอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : เจาะเหตุผล! ทำไม “นักศึกษาจบใหม่” ควรต้องทำธุรกิจ “แฟรนไชส์” ในยุคที่สังคมเปลี่ยนเพราะโควิด-19

ดังนั้น จึงไม่เป็นการยากหากอยากจะเปลี่ยนรูปแบบให้ธุรกิจหรือกิจการของคุณโดยการนำเอา How To ทุกอย่างเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ ด้วย 5 เทคนิคง่ายๆ ดังนี้

1.ประเมินความเป็นได้ของธุรกิจ

อย่าคิดว่าทุกธุรกิจสามารถทำเป็นแฟรนไชส์ได้ หรือคิดจะขายแฟรนไชส์ในทันที เพราะคุณต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความนิยมชมชอบของลูกค้า ความต้องการของตลาด หรือกิจการของคุณต้องมีผลกำไรมาแล้วสักระยะหนึ่ง หรืออาจมีร้านสาขาอยู่บ้าง บางรายอายุธุรกิจอาจนานพอที่จะนำเอาเทคนิคและรูปแบบบริหารมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ และมีการสร้างทีมงานที่มีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์ ดังนั้น ต้องมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน อยู่ในระดับใด เพราะการขายแฟรนไชส์ต้องมีความพร้อม ถ้าไม่พร้อมก็จะเกิดปัญหาตามมามากมาย อาจต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

2.ทำร้านต้นแบบ

เป็นการจัดระเบียบธุรกิจใหม่ ทำให้ธุรกิจหรือกิจการมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะลูกค้าที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ก็ต้องมาดูว่าคุณมีร้านต้นแบบหรือไม่ ประสบความสำเร็จหรือดึงดูดลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นก่อนที่คุณจะขายแฟรนไชส์ต้องมีการจัดระเบียบร้านค้าให้ดูดีก่อน ต้องมีการกำหนดรูปแบบให้เป็นมาตรฐาน ร้านต่อไปจะได้นำรูปแบบไปปฏิบัติตามได้ถูกต้องเพื่อให้ได้คุณภาพสินค้า การบริการ และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เหมือนกันทุกร้าน

3.วิเคราะห์วางแผนทางการเงิน

ในการเปิดแฟรนไชส์ 1 แห่ง จะต้องมีรายละเอียดในการลงทุนอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ลูกค้ากี่คน ยอดขายที่จะคุ้มค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ตัวเลขประมาณเท่าไหร่ และเป้าหมายควรมีลูกค้าขั้นต่ำเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เงินลงทุนคืนประมาณกี่ปี และคุ้มไหมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะมาลงทุนทำธุรกิจนี้ ร้านต้นแบบจะทำให้ได้ภาพที่ชัดขึ้น และมีตัวเลขที่เข้าใกล้ความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนนี้จะมีความสำคัญต่อการกำหนด การเก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) และค่าธรรมเนียมรายเดือน (Royalty Fee) ด้วย

4.สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก

หากคิดจะทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องสำรวจตลาดก่อนว่า แบรนด์สินค้าและบริการธุรกิจเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปหรือไม่ ถ้าคนไม่รู้จักธุรกิจก็ไม่สามารถขายแฟรนไชส์ได้ ดังนั้น การสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักเท่ากับว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจคุณด้วย ถ้าแบรนด์สินค้าของคุณดีก็จะมีคนบอกต่อปากต่อปาก ขยายฐานตลาดให้กว้างขึ้น นำไปสู่ยอดการขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

5.จัดทำคู่มือการถ่ายทอดระบบแฟรนไชส์

ระบบแฟรนไชส์จำเป็นต้องมีคู่มือการดำเนินธุรกิจที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับร้านต้นแบบ คู่มือดังกล่าวจะเป็นไกด์หรือรูปแบบการบริหารธุรกิจที่คุณจะถ่ายทอดประสบการณ์ทางธุรกิจที่มีมานานให้แก่ผู้อื่น คู่มือนี้จะสามารถควบคุมให้การบริหารงานในระบบแฟรนไชส์ได้ง่ายและราบรื่นขึ้น ไม่ว่าคุณจะขายแฟรนไชส์กี่สาขา ทุกสาขาก็จะยึดแนวทางการบริหารธุรกิจและบริการในรูปแบบเดียวกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ดังนั้น ถ้าคุณต้องการที่จะทำแฟรนไชส์ ต้องอย่าลืมจัดทำคู่มือการดำเนินงานตามแบบธุรกิจคุณประสบความสำเร็จมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบริการ การตกแต่งร้าน การทำตลาดและประชาสัมพันธ์ โปรโมชั่นต่างๆ การบริหารจัดการด้านการเงิน บริหารสต็อก เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : ประโยชน์ของการมี “คู่มือธุรกิจ” ให้จำไว้ 3 ข้อง่ายๆ มีอะไรบ้าง

รู้ไหม ทำไม! “แฟรนไชส์มือใหม่” ต้องทำ “Operation Manual” เพื่อให้กิจการไปต่อได้ไม่สะดุด

นอกจากจะสร้างธุรกิจให้มีชื่อเสียงในตลาดแล้ว คุณอาจจะต้องเข้าคอร์สและผ่านอบรมการทำธุรกิจแฟรนไชส์จากสถาบันที่เกี่ยวข้อง หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ด้วย