โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

“IDEA HOUSE” ถ่ายทอดครีเอทีฟ ความสำเร็จของ SME ภาคเหนือ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมและการออกแบบ หรือ “IDEA HOUSE” ขึ้น ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.กิจกรรมพัฒนานักออกแบบเพื่อผู้ประกอบการ 2.กิจกรรมปลุกพลังสร้างสรรค์กระตุ้นคลังความคิด 3.กิจกรรมสนามประลองความคิดเพื่อสร้างนักคิดรุ่นใหม่ และ4.กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นด้านการออกแบบ ซึ่งทุกกิจกรรม นอกจากจะได้รับคำแนะนำจากต้นแบบผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในวงกว้างแล้ว ยังมีโอกาสได้เรียนรู้กระบวน การทำงานร่วมกับนักออกแบบชั้นนำของประเทศ ที่พร้อมใจถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและมูลค่าให้สินค้าขึ้นอีก 3 - 5 เท่า ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 5 – 10  ดวงฤทธิ์ บุญนาค สถาปนิกและนักออกแบบชั้นนำของไทย ถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ทำงานอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพื้นฐานและกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จทางธุรกิจว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมใหม่ๆ คือ  “ลงมือทำ” แม้ว่าในตอนแรกเริ่มจะไม่มีองค์ความรู้หรือความเชี่ยวชาญมากนัก แต่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ ต้องอาศัยความรู้และสิ่งที่เป็นมาในอดีต เป็นตัวกำหนดความถูกต้องและความเป็นไปของอนานคต ซึ่ง 2 ประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์  “ทุกคนมีความสร้างสรรค์และความครีเอทีฟอยู่ในตัว เพียงแต่ยังติดอยู่ในกรอบและมุมมองแบบเดิมๆ หลายครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ประกอบการหรือชาวบ้าน สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือทุกคนคิดว่าต้องมีความรู้ก่อนถึงจะสร้างหรือลงมือทำได้ ทั้งที่ตลอดระยะเวลาที่คุยกันความรู้นั้นออกมาจากปากตลอดเวลา จึงมีคำพูดที่ว่ายิ่งมีความรู้มากเท่าไหร่โอกาสค้นพบสิ่งใหม่ๆ ยิ่งน้อยลง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราปล่อยวางความรู้และความเชื่อเดิมๆ โดยไม่ยึดติดกับอดีต เมื่อนั้นจะทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์”  สถาปนิกและนักออกแบบชั้นนำของไทย แนะนำว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ในการสร้างสรรค์หรือพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ คือต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า มีอะไรบ้างที่เป็นไปได้ภายใต้บริบทที่มีอยู่รอบตัวเรา ได้แก่ 1.เงินทุน 2.วัสดุหรือวัตถุดิบ 3.ความชำนาญ 4.สภาพแวดล้อม และ 5.วัฒนธรรม เป็นต้น หากมีบริบทที่มากพอสิ่งใหม่ๆ จะผุดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องพยายามค้นหา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของผู้ที่ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบัน คือ สตีฟ จอบส์   ผู้คิดค้นและผลิตไอโฟน ในตอนแรกเริ่มเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องทำอย่างไร แต่เมื่อลงมือทำโดยไม่ยึดติดกับความรู้และความเชื่อในอดีต ในที่สุดจึงเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โด่งดังและประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้  ขณะที่ นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบแบรนด์ และผู้ก่อตั้ง Yindee Dising ย้ำถึงความสำคัญการออกแบบแบรนด์และแพคเกจจิ้ง ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้ขายได้ราคาสูงขึ้นว่า แต่ผู้ประกอบการไทยยังขาดคือความเข้าในเรื่องของการดีไซน์ โดยเฉพาะตัวโลโก้และแพคเกจจิ้งทั้งที่สองสิ่งนี้สำคัญมาก “ไม่ว่าสินค้าเราจะดีแค่ไหน แต่หากโลโก้และบรรจุภัณฑ์ดูไม่โดดเด่น หรือแตกต่างจากสินค้ากลุ่มเดียวกันที่วางขายในท้องตลาด ก็จะไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคให้ยอมจ่ายได้ แต่หากทำแล้วปรับแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ ต้องกลับมาวิเคราห์ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ 1.ดูความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และ 2.จะพัฒนาสินค้าและองค์ประกอบต่างๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เมื่อสินค้าของเรามีคุณภาพและตรงกับความต้องการ นั่นคือจุดเริ่มต้นในการเปิดทางสู่ตลาดที่ดีที่สุด” นภนีรา กล่าวสรุป  ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมและการออกแบบ หรือ “IDEA HOUSE” พร้อมเปิดเวทีถ่ายทอดดีเอ็นเอความสำเร็จ จาก 4 ครีเอทีฟและผู้ประกอบการชั้นนำของประเทศไทย สู่ผู้ประกอบการภาคเหนือ ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-245361-2 หรือเข้าไปที่www.dip.go.th