ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

5 ปัจจัย สถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงาน


ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่เป็นคนพิการจำนวนประมาณ 1.9 ล้านคน ส่งผลให้สถานประกอบการใดมีพนักงานถึง 100 คน ต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน หากไม่ประสงค์ที่จะจ้างงานคนพิการต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่เป็นคนพิการจำนวนประมาณ 1.9 ล้านคน แบ่งเป็น อยู่ในวัยแรงงาน (อายุ 15 ถึง 60 ปี) ประมาณ 819,000 คน ทั้งนี้ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ระบุว่าหากสถานประกอบการใดมีพนักงานถึง 100 คน ต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน ขณะที่มาตรา 34 ระบุว่าหากสถานประกอบการใดไม่มีความประสงค์ที่จะจ้างงานคนพิการต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในอัตรา 365*ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันต่อปี

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้พิการต่อการจ้างงานตามมาตรา 33 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำรวจระหว่างวันที่ 24 ถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 511 คน

นอกจากนี้ ในมาตรา 35 กำหนดให้สถานประกอบการสามารถจัดสัมปทาน บริการ หรือการช่วยเหลืออื่นใดกับคนพิการแทนการจ้างงานและการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เช่น การให้สัมปทาน การให้ใช้พื้นที่ การจ้างเหมาบริการ การฝึกอบรม การจัดให้มีล่ามภาษามือ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลืออื่นใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ถึงแม้ข้อกำหนดในมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสการมีงานทำและการประกอบอาชีพให้กับคนพิการ แต่ก็ยังมีคนพิการอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการมีงานทำ ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนะคติเกี่ยวกับความสามารถของคนพิการ รวมถึงความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกกับคนพิการ ประกอบกับสถานประกอบการบางแห่งนำชื่อคนพิการเข้าไปแอบอ้างเป็นพนักงานโดยไม่ได้ให้คนพิการทำงานจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้พิการทางการเห็น ผู้พิการทางการได้ยิน และผู้พิการทางด้านร่างกาย แบ่งเป็นเพศชายร้อยละ 52.64 และร้อยละ 47.36 เป็นเพศหญิง สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.86 ทราบว่าหากหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการใดมีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างพนักงานที่เป็นคนพิการอย่างน้อย 1 คน ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.14 ไม่ทราบ

ในด้านความคิดเห็นต่อข้อกำหนดตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.84 มีความคิดเห็นว่าข้อกำหนดตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.97 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดให้หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการทุกแห่งต้องรับคนพิการเข้าเป็นพนักงานอย่างน้อยหนึ่งคนโดยไม่มีการกำหนดจำนวนพนักงานขั้นต่ำจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้มากขึ้น

ในด้านความคิดเห็นต่อการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.12 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการใดที่ไม่จ้างคนพิการเข้าเป็นพนักงานต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในจำนวนเงินเท่ากับ 365 วัน คูณด้วยค่าจ้างรายวันขั้นต่ำเป็นอัตราที่ไม่น้อยเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.88 มีความคิดเห็นว่าหากมีการเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในกรณีที่หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าเป็นพนักงานให้สูงขึ้นจะไม่มีส่วนเพิ่มแรงจูงใจให้หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการเหล่านั้นรับคนพิการเข้าเป็นพนักงานแทนการจ่ายเงินสมทบได้

สำหรับปัจจัยสำคัญ 5 อันดับที่ส่งผลให้หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการยังไม่รับคนพิการเข้าเป็นพนักงานและให้ปฏิบัติงานจริงได้แก่ ทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับความสามารถของคนพิการคิดเป็นร้อยละ 82.39 ขาดความรู้ความเข้าใจในการอำนวยความสะดวก/ช่วยเหลือผู้พิการคิดเป็นร้อยละ 80.04 คนพิการขาดทักษะฝีมือในการทำงานคิดเป็นร้อยละ 75.93 ข้อจำกัดด้านคุณวุฒิทางการศึกษาของคนพิการคิดเป็นร้อยละ 74.95 และไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับคนพิการประเภทใดเลยคิดเป็นร้อยละ 72.8

ในด้านการแอบอ้างชื่อคนพิการเข้าเป็นพนักงานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.3 เชื่อว่ามีหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการนำชื่อคนพิการไปแอบอ้างเป็นพนักงานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินสมทบกองทุนโดยไม่มีการรับเข้าทำงานจริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.52 เชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจกับการที่หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการนำชื่อคนพิการไปแอบอ้างเป็นพนักงานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินสมทบกองทุนโดยไม่มีการรับเข้าทำงาน

ในด้านความคิดเห็นต่อการจ้างคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.32 ไม่เห็นด้วยกับการที่หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการจ้างคนพิการเข้าเป็นพนักงานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแต่ให้คนพิการไปทำงานในหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการอื่นแทน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.09 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.59 ไม่แน่ใจ

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.47 เห็นด้วยว่าหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการที่รับคนพิการเข้าเป็นพนักงานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการควรให้คนพิการทำงานในหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการที่รับมากกว่าการส่งให้ไปทำงานยังหน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการอื่น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.33 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.2 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อข้อกำหนดตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.27 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้หน่วยงาน/องค์กร/สถานประกอบการช่วยเหลือคนพิการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เช่น การให้สัมปทานใช้พื้นที่ขายสินค้าหรือบริการ จ้างเหมาบริการ ฝึกอบรม การจัดให้มีล่ามภาษามือ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลืออื่นใดเพื่อส่งเสริมอาชีพจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.12 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.61 ไม่แน่ใจ

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.49 มีความคิดเห็นว่าทั้งมาตรา 33 และ 35 มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้เท่าๆ กัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.68 มีความคิดเห็นว่ามาตรา 33 มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้มากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.59 มีความคิดเห็นว่ามาตรา 35 มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการได้มากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.24 ระบุว่าทั้งสองมาตราไม่มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสเลย