โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่ เริ่มใช้ ก.พ.62

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เดือน ก.พ.62 ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มกว่า 9.5 ล้านคน ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้พิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ว่า การยกร่างกฎหมายดังกล่าวทำโดยคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายภาครัฐ มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจากหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป จำนวน 297 คน รวมทั้งได้เปิดรับฟังผ่านทางเว็บไชต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในช่วงระหว่างวันที่ 24 เม.ย.-26 พ.ค. 2560 โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ เนื่องจากเป็นการขยายการคุ้มครองลูกจ้างมากขึ้น

เนื้อหาสาระสำคัญ คือ การเพิ่มวันลากิจให้กับลูกจ้าง โดยได้ค่าจ้าง 3 วันต่อปี เพิ่มเงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง เป็น 6 อัตราจากเดิม 5 อัตรา คือ ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน , ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน , ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน/ลูกจ้างทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน

ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้รับเงินชดเชย 300 วัน และลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน และเพิ่มวันลาให้กับลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์ สามารถลาก่อนคลอดและลาคลอดได้ 98 วัน รวมถึงให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ลูกจ้างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่กำหนด เป็นต้น ซึ่งกฎหมายใหม่นี้ ทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มกว่า 9.5 ล้านคน โดยคาดว่าจะบังคับใช้ได้ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ 2562 นี้

ส่วนประเด็นที่ว่ากฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากนายจ้างหรือไม่ นั้น ขอยืนยันว่าการร่างกฎหมายที่ผ่านมาได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิด เห็นจากส่วนต่างๆ ทั้งนายจ้างลูกจ้างและรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรับฟังผ่านเวบไซต์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานด้วย รวมถึงการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และสนช.มาตลอด ก่อนที่จะนำ มาสู่ความเห็นชอบและจะบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้

สำหรับประเด็นที่ว่านายจ้างจะแบกรับภาระเพิ่มหรือไม่เพราะกฎหมายเพิ่มเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง ต้องถามกลับว่า เงินจำนวนสูงสุด 400 วัน กับแรงงานที่มีอายุงาน 20 ปี ขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่ต้องถูกเลิกจ้าง ถือว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการที่มีอายุงานมากขนาดนี้ ก็เพราะลูกจ้าง ทำงานอย่างจงรักภักดีให้กับนายจ้าง ดังนั้น การที่ตอบแทนความภักดี ด้วยเงินชดเชยจากการเลิกจ้างในจำนวนนี้ จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม สำหรับแรงงานที่น้องตกงานในวัยใกล้เกษียณ ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะมีลูกจ้างที่เข้าข่ายอายุงาน 20 ปี ประมาณ 3 แสนคน หรือร้อยละ 3 ของแรงงานทั้งหมด