ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

แจกอีก!!! บัตรเดบิตผูกบัญชีพร้อมเพย์ ช้อปสินค้าในช่วงตรุษจีนทุกรายการ ได้รับคืน VAT 5%


แจกอีก!!! ใช้บัตรเดบิตที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์ ช้อปสินค้าในช่วงตรุษจีนทุกรายการ ได้รับคืน VAT 5% ยกเว้นเหล้า เบียร์ บุหรี่ ตั้งงบรองรับ 9,240 ล้านบาท

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ประชาชนที่ซื้อสินค้าผ่านบัตรเดบิต ในอัตรา 5% ทุกรายการ ยกเว้นเหล้า เบียร์ บุหรี่ โดยแต่ละคนจะมีวงเงินซื้อสินค้าได้สูงสุด 20,000 บาท จะได้คืนภาษีสูงสุด 1,000 บาท

โดยมีระยะเวลาการซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1-15 ก.พ.2562 โดยขั้นตอนการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม จะโอนเงินกลับไปยังระบบพร้อมเพย์ ที่ผูกไว้กับหมายเลขบัตรประชาชนภายใน 15 วัน หลังการซื้อสินค้า

จากการคำนวณการใช้จ่ายของประชาชนคาดว่า จะใช้เงินคืนภาษีกว่า 9,240 ล้านบาท โดยได้มีการตั้งงบประมาณไว้ในปี 2563 โดยกระทรวงการคลังต้องการสร้างระบบอีเพย์เมนต์ให้แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ ไม่ใช่การหาเสียงและไม่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

โดยมาตรการนี้เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้อีเพย์เมนต์ หนุนร้านค้าเข้าระบบบริการเก็บข้อมูลการขายและการจ่ายเงินเมื่อมีการขายสินค้าหรือบริการ หรือระบบพีโอเอสซึ่งช่วยทำให้ร้านค้าเข้าสู่ระบบภาษีของกรมสรรพากรด้วย โดยไม่ได้เน้นไปที่การเติบโตของเศรษฐกิจ แต่เน้นไปที่การสร้างระบบอีเพย์เมนต์ โดยวงเงินคืนแวต 1,000 บาทต่อคน ก็น่าจะเพียงพอ

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ยังได้มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษาโดยขยายระยะเวลาจากเดิมที่หมดอายุ 31 ธ.ค.2561

โดยต่อออกไปอีก 1 ปีเป็นหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค.2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คาดว่า จะสูญเสียรายได้ 390 ล้านบาท ทั้งนี้ การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินข้างต้น จะต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการมาตรการช็อปช่วยชาติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2561-16 ม.ค.2562 นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในส่วนการซื้อยางรถยนต์ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบนั้น ขณะนี้มีภาคเอกชน บริษัทผู้ประกอบการยางตกลงซื้อวัตถุดิบยางจาก กยท. เพื่อนำไปผลิตล้อยางแล้ว 5 บริษัท ได้แก่บริษัทอีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีสโตน จำกัด และบริษัท ยางโอตานิ จำกัด

สำหรับคูปองลดหย่อนภาษีที่จัดสรรให้กับบริษัทผู้ผลิตยางล้อ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ คูปองสำหรับยางล้อรถยนต์ ประเภท 4 ล้อ ได้รับคูปอง 100 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน และคูปองสำหรับยางล้อรถจักรยานยนต์หรือรถจักรยาน ประเภทรถ 2 ล้อ ได้รับคูปอง 500 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน ซึ่งปัจจุบันทั้ง 5 บริษัท ได้ซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทาง กยท.แล้ว กว่า 2,000 ตัน หรือ 2 ล้านกิโลกรัม (กก.) และ กยท.ได้มอบคูปองลดหย่อนภาษีไปให้ผู้ประกอบการเหล่านี้แล้วกว่า 200,000 ใบ เพื่อให้แต่ละบริษัทนำคูปองไปกระจายต่อให้ร้านค้าที่จำหน่ายยางและตัวแทนของบริษัทจำนวนกว่า 1,000 ร้านค้าที่ร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตาม การซื้อยางรถยนต์จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ และคูปองที่ กยท. ออกให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษีในปีที่ซื้อ ซึ่งหากซื้อช่วงปีไหนก็จะหักลดหย่อนภาษีในปีนั้น ในวงเงินไม่เกินคนละ 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลเริ่มโครงการใช้ยางในประเทศ อาทิ ใช้ยางพาราทำถนนหมู่บ้าน ราคายางพาราก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 20-50 สตางค์ หลังปีใหม่จึงจะหารือกับ กยท.อีกครั้ง เพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น”

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีบริษัทผู้ผลิตล้อยางต่างชาติที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ อาทิ บริษัท วีรับเบอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท โยโกฮามา รับเบอร์ จำกัด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงหารือกัน เพราะ บริษัทเหล่านี้ไม่เคยซื้อยางโดยตรงจากสถาบันเกษตรกร ในเบื้องต้น กยท.จึงมีแนวทางให้บริษัทเหล่านี้ทำสัญญาซื้อขายไว้ก่อนล่วงหน้า และส่งมอบยางให้ทีหลัง.