ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เจาะ 5 โอกาสตลาดเครื่องสำอางไทย ให้ดังไกลไปต่างแดน


ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทยทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ จะผงาดสู่ตลาดโลก เพียงแค่ศึกษาตลาดและมองถึง 5 กลุ่มผู้บริโภคเป็นหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าตลาดเครื่องสำอางไทยในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 2.76 แสนล้านบาท แยกเป็นตลาดเครื่องสำอางในประเทศประมาณ 1.81 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.7 ขณะที่มูลค่า การส่งออกเครื่องสำอางน่าจะอยู่ที่ประมาณ 95,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 14.4 (YoY) อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2562 อาจต้องจับตาทิศทางเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยทางด้านสงครามการค้า รวมถึงราคาน้ำมันที่อาจให้ผลเชิงลบ ต่อกำลังซื้อในตลาดเครื่องสำอางในระยะต่อไปด้วย ทั้งนี้ จากภาพการเติบโตของตลาด ท่ามกลางโอกาสทางธุรกิจที่ค่อนข้างเปิดกว้าง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสนใจหรือยินดีทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีความน่าเชื่อถือหรือยึดติดกับแบรนด์น้อยลง อีกทั้ง ตลาดยังมีโอกาสเติบโตจากฐานผู้บริโภคที่ขยายไปสู่กลุ่มใหม่ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น จึงนับว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพอยู่ไม่น้อยโอกาสและความท้าทายในระยะข้างหน้าของธุรกิจเครื่องสำอางไทยตลาดเครื่องสำอางมีมูลค่าสูง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงในระยะข้างหน้า จากความต้องการในตลาดเดิมที่ยังคงเติบโต รวมถึงความต้องการในตลาดใหม่ๆ ที่ขยายตัวออกไป อาทิ กลุ่มเด็ก ผู้ชาย ผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามท่ามกลางโอกาสก็ยังมีความท้าทายในตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ โดยเฉพาะ SME ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขอนำมาเสนอ ดังนี้

 

โอกาสทางธุรกิจ

-ตลาดเครื่องสำอางเฉพาะสำหรับเด็ก ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กยุคใหม่ เริ่มเปิดกว้างต่อการใช้เครื่องสำอางเพื่อดูแลและเสริมบุคลิกภาพในกลุ่มเด็กมากขึ้น ทั้งเครื่องสำอางสำหรับดูแลผิว ดูแลทำความสะอาดร่างกาย และเครื่องสำอางที่ใช้แต่งหน้าในช่วงที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเครื่องสำอางที่ใช้ต้องมีความปลอดภัยและไม่เกิดการแพ้เนื่องจากผิวเด็กมีความบอบบางและไวต่อเครื่องสำอาง

– ตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย ปัจจุบันผู้ชายเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในตลาดเครื่องสำอาง เนื่องจาก ผู้ชายยุคใหม่ หันมาใส่ใจตัวเองเพื่อเสริมบุคลิกภาพ ขณะที่ลักษณะผิวของผู้ชายก็มีความแตกต่างจากผู้หญิง ทำให้อาจไม่เหมาะที่จะใช้เครื่องสำอางที่ผลิตออกมาสำหรับผู้หญิง ซึ่งกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและดูแลเส้นผม น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและน้ำหอมที่มีการใช้อยู่แล้ว

– ตลาดผู้สูงอายุ ประเทศไทยรวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลก กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยจำนวนผู้สูงอายุ (ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) ของไทยในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 10.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.4 ของประชากร ทั้งประเทศ ขณะที่ทั่วโลกมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณเกือบ 1,000 ล้านคน ซึ่งผู้สูงอายุบางกลุ่มมีกำลังซื้อ และมีความต้องการสินค้าประเภทเครื่องสำอางที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมถึงการเสริมบุคลิกภาพที่ดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ต่อต้านริ้วรอยให้ดูอ่อนกว่าวัย และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมได้รับความนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุ

-ตลาดประเทศมุสลิม ตลาดเครื่องสำอางสำหรับชาวมุสลิมในตลาดโลกมีมูลค่าประมาณ 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2558 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2564 (เติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ต่อปี) โดยตลาดที่มีมูลค่าสูงได้แก่ ประเทศที่มีชาวมุสลิมจำนวนมาก อาทิ อินเดีย (4.7 พันล้านดอลลาร์ฯ) รัสเซีย (3.5 พันล้านดอลลาร์ฯ) อินโดนีเซีย (3.3 พันล้านดอลลาร์ฯ) ตุรกี (3.1 พันล้านดอลลาร์ฯ) มาเลเซีย (2.9 พันล้านดอลลาร์ฯ) และบังกลาเทศ (2.5 พันล้านดอลลาร์ฯ) โดยบางประเทศมีข้อตกลงด้านการค้ากับไทย ทำให้มีความได้เปรียบทางด้านภาษีนำเข้า โดยประเภทของเครื่องสำอางที่น่าสนใจได้แก่ เครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย อาทิ ประเภทที่ใช้สำหรับดูแลเส้นผม และเครื่องสำอางสำหรับเด็ก อาทิ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิว เป็นต้น

-ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจุบันสินค้าประเภทเครื่องสำอางของไทย เป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งการซื้อไปใช้เอง/เป็นของฝาก/จำหน่ายต่อเนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ทำให้สินค้ามีราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับที่ถูกส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศและไทยยังมีสินค้าเครื่องสำอางที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ทั้งพืชและสมุนไพรที่มีเอกลักษณ์ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน (สำรวจเดือนสิงหาคม 2561 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย) พบว่า สินค้าที่นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างซื้อระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในไทยสูงสุดคือกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องสำอาง/ครีมบำรุงผิว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.5 ของประเภทสินค้าที่เลือกซื้อทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเครื่องสำอางไทยในตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ