โอกาสของคนตัวเล็ก

Responsive image

โอกาสทอง SME รุกตลาดสมุนไพร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองสมุนไพรมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้เพราะเทรนด์ของคนยุคใหม่นิยมใช้เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น นับเป็นโอกาสที่เอสเอ็มอีไทยควรเข้าไปปักธงธุรกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะข้างหน้าธุรกิจสมุนไพรยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ เทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ โดยมองว่าปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสมุนไพร ผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรปี 2560-2564 (มีสมุนไพรที่เป็น ProductChampion 4 ชนิด คือ ขมิ้นชัน ใบบัวบก ไพล กระชายดำ

การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันมากขึ้น โดยการเพิ่มรายการสมุนไพรเข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้คาดว่าในปี 2562 ตลาดสมุนไพรที่ใช้เป็น วัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางอาหารเสริม ยาสมุนไพร) จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 18,200 ล้านบาทและน่าจะมีโอกาสพุ่งไปสู่ระดับ 20,000 ล้านบาท ได้ภายในปี 2563

สำหรับเทรนด์การบริโภคสมุนไพรในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจด้านการแพทย์และความงามจะมีความต้องการสินค้าสมุนไพรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเสริมและเวชสำอาง นอกจากนี้อีกกลุ่มตลาดศักยภาพที่น่าจับตาก็คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ในไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่มีความชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่น และตลาดส่งออกที่มีอัตราการบริโภคสินค้าสมุนไพรสูง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงกลุ่มสมุนไพร Product Champion ที่ภาครัฐพยายามผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ขมิ้นชัน จัดเป็นสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพและมีโอกาสทางการตลาดสูง

ทั้งการปรับใช้ในธุรกิจอาหาร (จากการใช้เป็นเครื่องเทศ) หรือเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา ส่วนในระยะต่อไปคาดว่า ความต้องการขมิ้นชันด้านสุขภาพและการแพทย์จะเพิ่มมากขึ้น

สะท้อนจากข้อมูลความต้องการสารสกัดจากขมิ้นชันอย่าง เคอร์คูมิน (Curcumin) ในตลาดโลกคาดว่า จะพุ่งไปอยู่ที่ระดับ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายในปี 2566 ในขณะที่ความต้องการใน ประเทศ พบว่ายอดการสั่งใช้ยาจากบัญชียาหลักแห่งชาติ ขมิ้นชัน ถูกเบิกใช้มากที่สุดในบรรดากลุ่มยาจากพืชสมุนไพร 1 (ประมาณ 590,000 ครั้งต่อปี)

ปัจจุบันสารสกัดจากขมิ้นชันยังถูกขึ้นทะเบียน อย. สามารถใช้แทนยาแผนปัจจุบันในการบรรเทาปวดจากโรคข้อเสื่อมได้อีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความต้องการขมิ้นชันในเชิงทางแพทย์ เพื่อการรักษา และสามารถแข่งขันในตลาดกับยาแผนปัจจุบันได้มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ผลิตขมิ้นชัน โดยเฉพาะผู้ผลิตในรูปแบบออร์แกนิค น้ำมันหอมระเหยหรือสารสกัดจากขมิ้นชันที่ได้มาตรฐานรับรองด้านความปลอดภัย ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง โดยมีกลุ่มลูกค้าที่สำคัญคือ กลุ่มธุรกิจอาหารเสริม ยาและโรงพยาบาล

ทั้งนี้ แม้ว่าโอกาสทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะมีอยู่มาก แต่ความท้าทายของผู้ประกอบการที่สำคัญคือ ความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะมาตรฐานการผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย ดังนั้น การควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค/ซัพพลายเออร์ (อาทิ การทราบแหล่งที่มา/กระบวนการผลิตที่ตรวจสอบย้อนหลังได้/การร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์)

การตามให้เท่าทันเทรนด์การบริโภคของตลาด ตลอดจนการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผ้บูริโภค ผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การสื่อความไปยังผู้โภคเกี่ยวกับ การใช้ประโยชน์และบริโภคสมุนไพรที่ถูกวิธี ปลอดภัยและเห็นผล ก็น่าจะช่วยยกระดับธุรกิจสมุนไพรของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้