โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ออมสิน เผย ผู้มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน ใช้จ่ายเงินช่วงสงกรานต์เฉลี่ย 3,670 บาท ต่อคน

เกี่ยวกับช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว แน่นอนว่าประชาชนที่ทำงานอยู่ในตัวเมืองหรือกรุงเทพฯ จะต้องเดินทางกลับบ้านเกิดในต่างจังหวัด เพื่อร่วมเฉลิมฉลองและใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ดังนั้น ช่วงนี้จึงถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ขาย ที่จะต้องเตรียมสินค้ามาจำหน่าย ทำให้เกิดเงินสะพัดสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เผยผลสำรวจ การใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,186 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 16,130 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,670 บาท โดยเม็ดเงินการจับจ่ายใช้สอยและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนปรับลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากประชาชนฐานรากมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย เพราะมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบรายได้ และค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์กับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่ง มีรายได้และรายจ่ายอยู่ในระดับเท่าเดิม (ร้อยละ 57.2) และ (ร้อยละ 66.6) ตามลำดับ โดยกลุ่มตัวอย่างบางส่วนได้รับผลกระทบจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ลดลง เนื่องจากไม่มีการจ้างงาน/ใช้บริการ

สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ส่วนใหญ่เกินครึ่ง มาจากรายได้ (ร้อยละ 67.4) เงินจากคนในครอบครัว (ร้อยละ 17.9) เงินออม (ร้อยละ 10.4) เงินสวัสดิการจากภาครัฐ (ร้อยละ 3.3) และเงินกู้ยืม (ร้อยละ 1.0) อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการปรับเปลี่ยนแหล่งเงินที่นำมาใช้จ่าย โดยมีการบริหารเงินร่วมกับคนในครอบครัว และใช้เงินที่ได้รับสนับสนุนจากสวัสดิการภาครัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีการใช้จ่ายจากเงินกู้ลดลง 

เมื่อสำรวจลักษณะการทำกิจกรรม และคาดการณ์ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กิจกรรม 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากนิยม คือ (1) ทำบุญ/สรงน้ำพระ/รดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่ ร้อยละ 81.5 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 450 บาท (2) สังสรรค์ เลี้ยงฉลอง ร้อยละ 72.5 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,225 บาท (3) ให้เงินคนในครอบครัว ร้อยละ 49.0 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,790 บาท ทั้งนี้ในภาพรวมประชาชนฐานรากมีการทำกิจกรรมและการใช้จ่ายใกล้เคียงกับปีก่อน โดยมีค่าใช้จ่ายในแต่ละกิจกรรมสูงขึ้นเล็กน้อย ยกเว้นการซื้อของให้ตนเอง/ผู้อื่น และการท่องเที่ยวต่างจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแต่ละกิจกรรมลดลง ทั้งนี้ พบว่ามีการทำกิจกรรมสังสรรค์ เลี้ยงฉลอง และเดินทางกลับภูมิลำเนา/เยี่ยมญาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการวางแผนการเดินทางไปพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนของขวัญ/ของฝากที่คาดว่าจะซื้อในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 45.9 มีแผนที่จะซื้อของโดย 3 อันดับแรก คือ อาหาร/ขนม (ร้อยละ 66.9) เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม (ร้อยละ 51.8) และผัก/ผลไม้ (ร้อยละ 50.5) ส่วนบุคคล ที่ต้องการให้ของขวัญ/ของฝากมากที่สุดคือ คนในครอบครัว (ร้อยละ 87.1) รองลงมา คือ ผู้ใหญ่ที่เคารพ (ร้อยละ 37.9) และตนเอง (ร้อยละ 35.2) ตามลำดับ

“สำหรับสถานที่ซื้อของขวัญของฝาก พบว่า 3 อันดับแรก คือ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (ร้อยละ 49.7) ตลาด/ร้านค้าทั่วไป (ร้อยละ 45.6) และห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 34.8) เมื่อสำรวจยานพาหนะ ที่ประชาชนฐานรากเลือกใช้สำหรับเดินทางในช่วงสงกรานต์ อับดับแรก จะเป็นการใช้รถยนต์ส่วนตัว (ร้อยละ 78.1) รองลงมาเป็นการเดินทางโดย รถสาธารณะ คือ รถบัสโดยสารประจำทาง (ร้อยละ 10.8) และรถตู้โดยสารประจำทาง (ร้อยละ 5.9)” ดร.ชาติชาย กล่าว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารออมสิน คาดว่าการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลสงกรานต์ในภาพรวม ปี 2562 ประมาณ 16,130 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 2.2 ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับผลสำรวจการ ใช้จ่ายช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนฐานรากเห็นว่ามีค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงมีความระมัดระวังการจับจ่าย ใช้สอย ทั้งนี้ จากผลสำรวจแหล่งที่มาของเงินที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงสงกรานต์ พบว่า สัดส่วนผู้ที่มีการกู้ยืมลดลง ขณะที่ผู้ที่ใช้เงินที่ได้รับสนับสนุนจากสวัสดิการภาครัฐมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนฐานราก