โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ผนึกพลังสร้างก๊าซชุมชนจาก "มูลสุกร" ต้นแบบการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

ในประเทศไทยนับว่ามีแหล่งพลังงานทางเลือกมากมายนัก สุดแล้วแต่ใครจะเป็นผู้คิดค้นและผลิตขึ้นมาเป็นคนแรก และเนื่องจากไทยเราเป็นเมืองกสิกรรม เป็นประเทศที่ประชาชนมีอาชีพเป็นชาวเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ โดยประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกันอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจที่นอกจากจะนำเนื้อหรือส่วนอื่นๆ มาทำให้เกิดรายได้แล้ว ส่วนที่เหลือยังมาแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังงานเพื่อให้กันในชุมชนได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นการนำเอามูลสุกร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ขี้หมู” มาผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติสามารถนำมาใช้ประโยชน์กันภายในชุมชน ซึ่งถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง อบต. ป่ายุบใน - ปตท. – VISTEC – เอเลแก้นท์ฟาร์มที่ผนึกพลังสร้างก๊าซชุมชนจากมูลสุกร ต้นแบบการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนมุ่งพัฒนาพลังงานทดแทน และเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมแบบยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่จัดการและใช้ประโยชน์ของพลังงานอย่างครบวงจรในระดับชุมชน ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน คาดใช้ก๊าซชีวภาพกำลังส่ง 3 กิโลเมตร ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานหุงต้มของชุมชนกว่า 60 ครัวเรือน ประมาณ 265,000 บาท/ปี และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,350 ตันต่อปี ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายนิติพัฒน์ ยุทธเจริญกิจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่ายุบใน พร้อมด้วย นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี และ ว่าที่ร้อยตรีวชิระ รุ่งวานิชการ ประธานกรรมการบริษัท เอเลแก้นท์ฟาร์ม จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาพลังงานชุมชนด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อบูรณาการระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรให้ชุมชนตำบลป่ายุบในใช้เป็นพลังงานสะอาด ตลอดจนพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการพัฒนาพลังงานชุมชนด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของ ปตท. ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่สังคมชุมชน โดยเริ่มต้นโครงการในปี 2561 ด้วยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมกับทั้งหน่วยงานภาคีและภาคชุมชนในการเข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้ในกระบวนการคิดวางแผน การประชาคม การก่อสร้าง รวมถึงการร่วมทุน และสร้างกลไกคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ และกองทุนกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ ตำบลป่ายุบใน เนื่องจากในตำบลมีฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ของบริษัท เอเลแก้นท์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพได้ถึง 800 ลูกบาศก์เมตร ถือเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการส่งจ่ายให้ชุมชนรอบข้างได้ใช้ร่วมกัน โดยดำเนินการประสานความร่วมมือ 4 ฝ่าย ในการดำเนินโครงการฯ ประกอบด้วย

1) เจ้าของฟาร์มสุกร มีส่วนร่วมในการก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพ

2) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการบริหารโครงการ งานวิจัย งานวิชาการ และการจัดการความเสี่ยง

3) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถ่ายทอดองค์ความรู้การก่อสร้างระบบส่งจ่ายก๊าซชีวภาพ และร่วมวางระบบการบริหารจัดการ โดยถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการระบบก๊าซชีวภาพฯ ต. ท่ามะนาว จ. ลพบุรี กว่า 500 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ประเภทการจัดการจัดการขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และวัสดุเหลือใช้

4) องค์การบริหารส่วนตำบลป่ายุบใน มีส่วนร่วมในการสร้างกระบวนการชุมชน ตั้งแต่การสื่อความ การจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้ก๊าซฯ การจัดประชาคมหมู่บ้าน และรับสมัครครัวเรือนเข้าโครงการฯ เพื่อสร้างกระบวนการให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเอง และดูแลรักษาระบบได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถส่งจ่ายก๊าซชีวภาพให้แก่ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการได้ภายในเดือนธันวาคม 2562 ทั้งนี้ การร่วมพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานชุมชนป่ายุบใน ซึ่งเป็นการทำงานที่มีส่วนร่วมของชุมชนนั้น จะนำมาสู่ความสำเร็จในมิติด้านเศรษฐกิจภายในชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กันไป โดยชาวบ้านในชุมชนรวมประมาณ 60 ครัวเรือนจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานหุงต้มในชุมชนได้ 265,000 บาท/ปี และฟาร์มสามารถลดค่าไฟได้ 780,000 บาท/ ปี นอกจากนี้ ยังส่งผลให้สังคมโดยรวมได้ประโยชน์จากการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์ม 2,350 ตันต่อปี และลดมลภาวะทางกลิ่นจากฟาร์ม ช่วยทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองในการดูแลและบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน