โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี น้อมนำศาสตร์พระราชา ฟื้นคลองสวย น้ำใส

กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานแต่ละกลุ่มนั้นมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของการใช้น้ำที่แตกต่างกันไปบ้างก็น้ำแล้ง บ้างก็น้ำท่วม บ้างก็ถูกน้ำเค็มรุกล้ำ แต่สำหรับเกษตรกรจากกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล สำนักงานชลประทานที่ 11

ในอดีตนั้นเจอกับปัญหาที่แตกต่างออกไป คือต้องเผชิญกับปัญหาน้ำเน่าเสียและผักตบชวาล้นคลอง แต่แล้วอุปสรรคทั้งหมดก็ถูกแก้ไขด้วย “การน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้” ด้วยการลงมืออย่างจริงจัง ผลลัพธ์ที่ได้คือสามารถฟื้นคลองสวย น้ำใส และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ชุมชนได้สำเร็จในปัจจุบัน

ฟื้นคลองสะอาด โดยยึดหลักพึ่งตนเอง

นายวันชัย สวัสดิ์แดง ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี เล่าว่า กลุ่มของเราตั้งอยู่ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในอดีตจะพบว่าผักตบชวาล้นคลองและน้ำที่เน่าเสียนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของคนที่นี่ เวลาที่มีปัญหาก็มักจะไปร้องเรียน และรอให้คนอื่นเข้ามาดำเนินการแก้ไขให้เมื่อ พ.ศ. 2544 เราจึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มพื้นฐานขึ้นและพัฒนามาเป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่กรมชลประทานมาเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ

การมีองค์ความรู้และเข้าใจถึงหลักของการพึ่งตนเอง เสมือนมีเกราะและอาวุธที่ช่วยปัดเป่าปัญหาอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามา เกษตรกรทุกคนใช้ข้อมูลเป็นตัวนำในการแก้ปัญหา เช่น ข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจผังน้ำ ซึ่งพบว่า คลองซอย คลองเล็ก คลองน้อย มีสภาพแย่มาก ในชุมชนเองมีการปล่อยน้ำเสียและไขมันปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลให้สัตว์น้ำและจุลินทรีย์ตาย เนื่องจากกระบวนการย่อยสลายเกิดปัญหา อีกทั้งยังมีปัญหาผักตบชวาล้นคลองกีดขวางทางน้ำ ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียกลุ่มจึงคิดที่จะฟื้นคลองให้กลับมามีสภาพดี

แปรรูปผักตบชวา สร้างนวัตกรรมถังดักไขมันใช้เอง

การแก้ไขปัญหาเริ่มต้นที่ การเปลี่ยนผักตบชวาที่ใครต่อใครคิดว่าเป็นเศษขยะ ไร้ประโยชน์ ให้มีคุณค่าและสร้างรายได้ ก่อนจะต่อยอดสู่การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ด้วยการรณรงค์ให้คนในชุมชนทำถังดักไขมันใช้เอง ซึ่งจะช่วยดักไขมันและกรองเศษอาหารก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงสู่คลอง

“คลองมหาสวัสดิ์มีปริมาณผักตบชวาจำนวนมาก 45 วันก็เต็มคลองแล้ว เราจึงนำผักตบชวามาทำให้เกิดประโยชน์ สร้างกระบวนการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม โดยการรับซื้อผักตบชวาตากแห้ง กิโลกรัมละ 20 บาท จากนั้นนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำมาผสมกับดินผสมขี้วัว ขี้เถ้า แกลบ เป็นดินพร้อมปลูกจำหน่าย นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชนแล้ว ยังช่วยลดจำนวนผักตบชวาไม่ให้ล้นคลองได้อีกด้วย”

สูตรการคำนวณ คือ พื้นที่ 1 ตารางเมตร จะมีผักตบชวาให้เก็บ 30 กิโลกรัม เก็บแล้วนำไปตากแดด 2 วันจากนั้นนำมาหั่นละเอียด จะได้ผักตบชวาตากแห้ง 1 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 20 บาท ถ้าพื้นที่ 1 ไร่มี 1,600 ตารางเมตร คูณ 20 ก็จะได้ 32,000 บาทเลยทีเดียว

รายได้จากการขายดินพร้อมปลูกจะนำไปเป็นทุนในการซื้อผักตบชวาต่อไป ส่วนกำไรบางส่วนจะนำมาผลิตนวัตกรรมถังดักไขมันแจกคนในชุมชนโดยดัดแปลงจากถังสีขนาด 20 ลิตรมาประดิษฐ์เป็นตะแกรงคอยดักไขมันและเศษอาหาร พร้อมกันนี้ยังได้น้อมนำศาสตร์พระราชา “ระเบิดจากข้างใน” มาเป็นหลักในการแก้ปัญหา เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระงานของกรมชลประทานที่ต้องคอยแบกรับ แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียและผักตบชวาล้นคลองอยู่เพียงฝ่ายเดียว

พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

หลังจากคลองสวยน้ำใส ทางกลุ่มจึงพัฒนาเป็นตลาดน้ำแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นพื้นที่ให้คนในชุมชนนำผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าต่าง ๆ มาขาย สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง โดยเราพยายามสร้างวิถีชีวิตเกษตรที่เป็นระบบของคนในชุมชน วันจันทร์-วันศุกร์ ช่วงเช้าทำการเกษตร วันศุกร์ช่วงบ่ายเก็บเกี่ยวผลผลิต วันเสาร์และวันอาทิตย์นำมาขาย วันจันทร์ช่วงเช้าก็นำเงินไปฝากธนาคาร

เข้าถึงข้อมูลการใช้น้ำผ่านไลน์ ช่องทางสื่อสารส่งตรงถึงมือ

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่การบริหารจัดการระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพการสื่อสารให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โชคดีมากที่ปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยี 4.0 ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์กลุ่มเกษตรในหมู่บ้านส่งเป็นรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการใช้น้ำในแต่ละวัน

“เวลาที่กรมชลประทานส่งข้อมูลอะไรมา ผมจะส่งต่อ อย่างนี้สบายมากไม่ต้องวิ่งบอกแต่ละบ้าน แอปพลิเคชันมีประโยชน์มาก สมาชิกในกลุ่มเองก็ปรับตัว เมื่อมีข้อมูลมาถึงสามารถเปิดรับได้ทันที”

บทพิสูจน์ความสำเร็จ ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี คว้ารางวัลชมเชย สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมจากการประกาศผลรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2561 ของสำนักคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ไปครองได้สำเร็จ

“ผมบอกได้ชัดเจนเลยว่า ตอนแรกที่ทำ อยากฟื้นคลองให้สวย คลองสวยแล้วเราก็จะมีรายได้ เอาของมาขายผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่จะได้ขายของ คือ เรามีผลประโยชน์ร่วมกันที่เป็นธรรมความเป็นธรรมเท่านั้นแหละที่จะดึงคนเข้ามาอยู่ในกลุ่ม และสร้างการยอมรับได้”

ปัจจุบันกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดีมีความเข้มแข็งและได้กลายเป็นต้นแบบ เชื่อมโยงและขยายเครือข่ายไปทั่วทั้งอำเภอพุทธมณฑล เริ่มแรกจากตำบลมหาสวัสดิ์ไปยังตำบลศาลายา ตำบลคลองโยงและชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน โดยกลุ่มจะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้ เพื่อให้สามารถ “พึ่งตนเอง” และก้าวเดินไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน