โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

พาณิชย์' เตรียมผลักดันผ้าไหมไทย...ผงาดบนตลาดแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์

กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นในศักยภาพผ้าไหมไทย เตรียมผลักดันให้ผงาดบนตลาดแฟชั่น/สินค้าไลฟ์สไตล์ เพิ่มความหลากหลายของประเภทสินค้า ปรับแนวทางการผลิตนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่า กระตุ้นการรับรู้...สร้างความภาคภูมิใจเมื่อสวมใส่หรือนำไปใช้

 

พร้อมเปลี่ยนทัศนคติ...ไหมไทย...สัญลักษณ์ไทย...ใครใครก็ใช้ได้ มั่นใจ...ความสวยงาม ทนทาน ครองใจผู้ใช้ได้ทุกกลุ่ม เตรียมเดินสายพัฒนาเส้นทางสายไหม อีสาน เหนือ ใต้ สู่แหล่งท่องเที่ยว ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเดินหน้าพัฒนาเส้นทางสายไหมสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น

โดยได้วางกลยุทธ์การพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหมของไทย 3 ภูมิภาค และมอบหมายให้นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย

1) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น

2) ภาคใต้ ได้แก่ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช

3) ภาคเหนือ ได้แก่ จ.แพร่ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่

โดยสาระสำคัญ คือ การยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมของไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายและการตลาดขนานไปตามเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการผลิต เทคนิคเฉพาะ และอัตลักษณ์ผ้าไหมของแต่ละชุมชนเพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงามและทนทาน

รวมถึง หัวใจหลักของการพัฒนาต่อยอด คือ การนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการพัฒนาผ้าไหมของไทยให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และดูแลรักษาง่าย ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับผ้าไหมไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี"

"การพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหม จะเริ่มจากการอบรมบ่มเพาะเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ การค้าและการตลาด สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้จัดหา นักออกแบบ และผู้ซื้อ รวมทั้ง จัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ผ้าไหมไทยเชื่อมโยงสู่แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ

เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ/สร้างความภาคภูมิใจเมื่อได้สวมใส่หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหม ทั้งนี้ ผ้าไหมไทย ได้รับการขนานนามว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศที่มีความสวยงาม มีความอ่อนนุ่ม เส้นไหมมีความเลื่อมเงางามโดยธรรมชาติ ใส่แล้วภูมิฐาน นอกจากนี้ คุณสมบัติพิเศษของผ้าไหม เมื่ออากาศร้อน...ผ้าไหมจะช่วยคลายร้อน และเมื่ออากาศหนาว...ผ้าไหมบางๆ กลับช่วยให้อุ่นสบาย

ซึ่งจากคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของผ้าไหมไทย นำมาซึ่งความภาคภูมิใจเมื่อสวมใส่หรือใช้งาน ทำให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นผ่านลวดลายอันวิจิตรบรรจงบนผืนผ้าไหมที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่ควรได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย"

"จากข้อมูลของกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พบว่า ประเทศที่ผลิตเส้นไหมมากที่สุดในโลก ได้แก่ อันดับ 1 จีน อันดับ 2 อินเดีย อันดับ 3 อุสเบกีสถาน อันดับ 4 ไทย อันดับ 5 บราซิล ซึ่งปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบายเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม โดยลดบทบาทภาคการเกษตรลง รวมทั้งสินค้าด้านหม่อนไหม

ซึ่งสามารถเป็นดัชนีบ่งชี้ปริมาณการผลิตเส้นไหมที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก ดังนั้น หากประเทศไทยมีการส่งเสริมและพัฒนาด้านหม่อนไหมอย่างเต็มที่ ลดต้นทุนการผลิต การสร้างคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้เกิดความแตกต่าง และคงอัตลักษณ์ในการเป็นไหมไทยโดยแท้ที่เป็นเส้นไหมที่สาวด้วยมือ ก็จะทำให้ไหมไทยสามารถเจาะตลาดตลาดต่างประเทศได้ไม่ยากโดยเฉพาะตลาดอาเซียน" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ผ้าไหมของไทยที่มีชื่อเสียง มีความสวยงาม สามารถสะท้อนอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เช่น - ผ้าจกเมืองลอง จ.แพร่ - ผ้ายกดอก จ.ลำพูน - ผ้าจกแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ - ผ้าซิ่นตีนแดง จ.บุรีรัมย์ - ผ้าแพรวา จ.กาฬสินธุ์ - ผ้าโฮล จ.สุรินทร์ - ผ้าอัมปรก จ.สุรินทร์ - ผ้ากาบบัว จ.อุบลราชธานี - ผ้ามัดหมี่ลายแก้วมุกดา จ.มุกดาหาร - ผ้าสาเกต จ.ร้อยเอ็ด - ผ้าพุมเรียง จ.สุราษฎร์ธานี - ผ้ายกเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช - ผ้าจวนตานี จ.ปัตตานี ฯลฯ เป็นต้น

ข้อมูลจากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร : สถานการณ์การส่งออกและนำเข้าเส้นไหม ผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ไหมของประเทศไทย พบว่า ในปี 2559 มีมูลค่าส่งออกรวมทั้งสิ้น 489,338,965 บาท เมื่อเทียบกับปี 2558 มีมูลค่าลดลง 97,068,568 บาท หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 16.55 (มูลค่าส่งออกปี 2558 : 586,407,533 บาท)

และมูลค่าการนำเข้า ปี 2559 รวมทั้งสิ้น 863,918,455 บาท เมื่อเทียบกับปี 2558 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 146,935,063 บาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 20.49 (มูลค่านำเข้าปี 2558 : 716,983,392 บาท)