โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาด

กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % จาก 1.50 % เหลือ 1.25 % เหตุมองเศรษฐกิจไทยขยายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ เป็นผลจากการส่งออกลดลง จำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ ที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ

นายทิตนัน มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ย นโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

การตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งนี้ เนื่องจาก คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่ากว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลง และจะส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ขณะภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน

แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทำให้กรรมการส่วนใหญ่ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าแนวโน้ม เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศจาก สภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามผลจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้าง พื้นฐานที่สําคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นผลจากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตาม แรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนา เทคโนโลยีที่ทําให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ภาคเอกชนสามารถระดมทุน ต่อเนื่อง แต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ในขณะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท คณะกรรมการฯ ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่ง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นคณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กํากับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุล เงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้าน อัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุน เคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดําเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจําเป็น

อย่างไรก็ตาม ในการคาดการณ์ไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตรา เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดําเนินนโยบายการเงินใน ระยะต่อไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน