โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สุชิน ชาวไร่อ้อย ช่างฝีมือโรงงาน ช 3 สำนักวิจัยและพัฒนา

“ทำทุกอย่างเต็มที่ด้วยใจที่เป็นสุขจากอะไหล่โรงงาน ชิ้นเล็ก ๆ กลายเป็นฟันเฟือง ที่สร้างคุณูปการมากมาย”

สุชิน คือหนึ่งในทีมงานร่วมก่อสร้างประตูน้ำท่าถั่ว จังหวัดฉะเชิงเทรา (ต้นแบบจากพนังกั้นน้ำ วัดไชยวัฒนาราม) องค์กรใดที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ปัจจัยสำคัญจะต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการภายในของ องค์กรแห่งนั้น แต่หากมองให้ลึกลงไปถึงรากฐานสำคัญบุคลากรระดับล่างที่มีจำนวนมากก็ต้องถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ ขององค์กร แต่เมื่อประกอบเข้าด้วยกันจะเกิดเป็นเครื่องยนต์ที่มีแรงขับเคลื่อนมหาศาลเช่นเดียวกับบุคคลชลประทาน ฉบับนี้ที่แม้จะเป็นคนตัวเล็กแต่หัวใจในการทำงานนั้นพองโตอีกทั้งยังเป็นหนึ่งของฟันเฟืองที่ร่วมขับเคลื่อนกรมชลประทาน ไปสู่เป้าหมายมาตลอดชีวิตการทำงานจนถึงวัยใกล้เกษียณ

จากเด็กเพาะช่าง ขอเดินตามรอยพ่อ

สุชิน ชาวไร่อ้อย ช่างฝีมือโรงงาน ช 3 สำนักวิจัยและพัฒนา เล่าว่า พื้นเพของเขาเกิดและเติบโตใน กรุงเทพมหานคร ครอบครัวมีฐานะปานกลาง คุณพ่อ รับราชการตำแหน่งนายท้ายเรือกองยานพาหนะส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้านคอยดูแลลูกทั้ง 5 คน ตนเองเป็นคนที่ 2 จบชั้นประถมศึกษาที่วัดมหาธาตุชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ก่อนจะสอบเข้าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่โรงเรียนอาชีวศิลปศึกษาและคว้าประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากวิทยาลัยเพาะช่าง ด้วยความที่พ่อรับราชการ ลูกไม้อย่างสุชินจึงหล่นไม่ไกลต้น สุชินจึงมีความต้องการอยากจะรับราชการ เพื่อทำงานทดแทนคุณแผ่นดินโดยไม่มีข้อยกเว้นว่า จะต้องทำงานในหน่วยงานใดของกรมชลประทาน

“พ.ศ. 2527 ผมมีพี่ที่รู้จักอยู่คนหนึ่งชื่อพี่สมชาย หอมหวาน ได้ฝากไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่อ่างเก็บน้ำห้วยวังนอง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายวีระพล วัชรประทีป นายช่างชลประทาน เป็นคนดูแลอ่างเก็บน้ำห้วยวังนอง ประจวบเหมาะกับขณะนั้นกองยานพาหนะและขนส่ง สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ได้เปิดรับสมัครลูกจ้างประจำ ผมจึง ตัดสินใจสอบบรรจุ จำได้แม่นว่าเป็นวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2531”

ดูแลยานพาหนะคืองานหลัก รถต้องพร้อมรับเคลื่อน

เมื่อถามถึงหน้าที่หลัก ๆ ที่ต้องทำ สุชิน เล่าว่า หน้าที่หลักหรือ งานประจำของเขาคือการซ่อมรถ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการดูแลรถหลวง รถของทางราชการให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยทุกเช้าเมื่อมาถึงที่ทำงาน สิ่งแรกที่ต้องทำคือตรวจเช็คสภาพรถ ถ้าคันไหนมีปัญหาก็จะแจ้ง และส่งซ่อมต่อไป

“งานที่ผมทำเป็นงานประจำ เข้างาน 8 โมงครึ่ง เลิก 4 โมงครึ่ง เป็นเช่นนี้ ทุกวัน จนถึง พ.ศ. 2555 ก็มีจุดเปลี่ยน เมื่อผมถูกทาบทามให้มาช่วยงานที่สำนักวิจัยและพัฒนา จากนั้นไม่นานก็ทำการโอนย้ายมาถาวร หน้าที่หลัก คือเชื่อมงานตามแบบ เช่น เชื่อมโต๊ะ เชื่อมโมเดล เชื่อมเหล็ก ทำหลังคา โรงจอดรถ ทำให้ได้พัฒนาฝีมือ เพราะเป็นงานที่แตกต่างจากงานเดิม เป็นเหมือนงานฝีมือที่ต้องอาศัยความรู้ด้านช่างเป็นพื้นฐาน”

โชว์ฝีมือประกอบโมเดล ผลงานที่ภาคภูมิใจ

ปัจจุบัน สุชินอยู่ในตำแหน่งช่างฝีมือโรงงาน ช 3 ด้วยฝีมือทางด้านช่าง ที่โดดเด่น ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจให้มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ ๆ นั่นก็คือการประกอบโมเดล ซึ่งจากการไล่เรียงดูแล้ว มี 3 ผลงานที่สร้าง ความภาคภูมิใจก็คือ โมเดลรางพืชกรองน้ำ ช่วยบำบัดน้ำเสียด้วยวัชพืชธรรมชาติ โมเดลฝายพับได้ อ่างเก็บน้ำประแสร์ และโมเดลพนังกั้นน้ำ วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สุชิน เล่าว่า เขาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโมเดลทั้ง 3 ตัว คือรางพืช ฝ่ายพับได้ และพนังกั้นน้ำ ซึ่งเป็นตัวโมเดลที่สามารถถอดประกอบและ เคลื่อนย้ายได้ ขนาด 2.50x1.0 เมตร ไว้สำหรับขนย้ายเพื่อจัดแสดงโชว์ตามนิทรรศการต่าง ๆ เป็นการสาธิตให้เห็นการทำงานของระบบน้ำแบบเสมือนจริง รวมถึงดูแลรักษาให้อยู่สภาพพร้อมใช้งานไม่ชำรุดเสียหาย

ลูกจ้างประจำดีเด่น ระดับประเทศ รางวัล ก่อนวัยเกษียณ

จากการทำงานมากว่า 30 ปี ในฐานะลูกจ้างประจำ จากอะไหล่ จากโรงงานชิ้นเล็ก ๆ บัดนี้ได้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่สร้างคุณูปการมากมาย ในการขับเคลื่อนกรมชลประทานไปข้างหน้า และสำนักงาน ก.พ.ได้เล็งเห็นความสำคัญของผลงานที่สั่งสมมาจนได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือน และลูกจ้างประจำดีเด่นกรมชลประทาน ประจำปี พ.ศ. 2562 ระดับประเทศ

ช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษ สุชิน ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า คนที่มีตำแหน่งไม่ได้ใหญ่โต ก็สามารถเป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนร่วมงานและคนรุ่นหลังได้ขอเพียงเห็นความสำคัญในบทบาทของตนเองทำหน้าที่ ทุกอย่างด้วยความ ทุ่มเท มุ่งมั่น อย่าง เป็นที่สุดแล้วความสุข ก็จะถูกเติมเข้าไป ในหัวใจของเรา ตลอดไป