โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

Delivery ส่งเร็วขายรวย - ทำไมต้องเดลิเวอรี่

 

 

        ขณะที่ผู้ประกอบการต่างก็ “ปรับตัว” อย่างรวดเร็ว รับกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นสังคมเมืองเต็มขั้น หลังจากแบรนด์ใหญ่ขยับตัวล่วงหน้าแล้ว ก็ถึงคราวของ SME ที่จะเดินเกมรุกบุกตลาด “เดลิเวอรี่”อาศัยความเล็ก แต่คล่องตัว เสิร์ฟสินค้าถึงที่หมาย ภายในเวลาอันรวดเร็ว

          SME รายใดสามารถตอบโจทย์ลูกค้าด้วยการเดลิเวอรี่สินค้าและบริการตามออเดอร์ที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิต!! ธุรกิจย่อมมีแต่ “บวก” เพิ่ม ทั้งรายได้ กำไร และความพึงพอใจของลูกค้า ที่ถึงจะมีเงินก็ซื้อหาที่ไหนไม่ได้

 

ทำไมต้อง…เดลิเวอรี่

          วิถีชีวิตที่เร่งรีบ แต่รักสบาย เป็นสไตล์การใช้ชีวิตของคนเมืองที่กำลังกระจายตัวไปทุกหย่อมหญ้า เวลาในชีวิตของคนเราทุกวันนี้ส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานหาเงิน จนไม่มีเวลาแม้แต่ดูแลอาหารการกินของตนเอง หรือเดินช้อปปิ้งซื้อสินค้าเหมือนเช่นในอดีต อีกทั้งปัญหารถติด ต้องเข้าคิว แย่งกันกิน แย่งกันใช้ ก็ทำให้ผู้คนเบื่อหน่าย ไม่อยากจะออกจากบ้าน

          “เดลิเวอรี่” เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสินค้าและบริการที่มีคุณภาพส่งมอบถึงบ้านของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว กลุ่มอาหาร ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตอย่างเด่นชัด โดยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 8,000-10,000 ล้านบาท เจ้าของธุรกิจอาหารหันมาใช้เดลิเวอรี่เป็นช่องทาง “เพิ่มยอดขาย” ขยายฐานลูกค้ากันมากขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เดลิเวอรี่อาหารประเภทวัตถุดิบ และเดลิเวอรี่อาหารสำเร็จรูป

          กลุ่มดอกไม้ ที่เห็นมีการจัดส่งสินค้ากันอย่างโดดเด่น คือ ดอกไม้สำหรับใช้อวยพรในโอกาสต่างๆ มูลค่าตลาดรวมกว่า 1,000 ล้านบาทส่วนดอกไม้ประเภทพวงหรีด มีมูลค่าตลาดกว่า 4,000 ล้านบาท ในที่นี้หมายรวมถึงพวงหรีดดอกไม้สด และพวงหรีดทางเลือกอย่างพวงหรีดพัดลม ต้นไม้ หนังสือ เป็นต้น กลุ่มบริการ จัดหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปให้บริการด้านต่างๆ อาทิ จัดหาแม่บ้านทำความสะอาด ล้างรถ เลี้ยงสุนัข เลี้ยงแมว ตัดหญ้า สปา หรือบริการอีกมากมายที่จะมา “ถึงบ้าน” ถ้าลูกค้าบอกมาคำเดียวว่า “ขี้เกียจทำ”

          ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเดลิเวอรี่อาจไม่จำเป็นต้องจัดส่งสินค้าเอง และไม่ต้องลงทุนผลิตสินค้าก็ได้ แต่ยังสามารถทำเงินจากธุรกิจนี้ มีหลายบริษัทเสนอตัวเองเป็นสื่อกลางระหว่างร้านอาหารกับลูกค้า เช่น แซ่บเว่อร์ เดลิเวอรี่, ฟู้ดแพนด้า แล้วทำธุรกิจร่วมกันในลักษณะพาร์ทเนอร์ ใครถนัดทำก็ทำ ใครถนัดส่งก็ส่ง และแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันแบบ Win-Win

 

ปัจจัยความสำเร็จ บริหารดีมีแต่บวก

          โดยสรุป ไม่น่าแปลกใจหากธุรกิจเดลิเวอรี่จะโตวันโตคืน และได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เพราะการเรียกใช้บริการเดลิเวอรี่นั้นไม่ต่างจากการซื้อหาความสะดวกสบายให้กับตนเอง ถ้า SME สามารถขายความสะดวกที่ตรงใจลูกค้า ย่อมมีโอกาสแทรกตัวขึ้นมาแจ้งเกิดได้ในยุคการแข่งขันสูงเช่นนี้

          สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจก่อนทำธุรกิจเดลิเวอรี่ก็คือ “ต้นทุน” ของตัวเองว่าประกอบด้วยต้นทุนอะไรบ้าง เช่น ต้นทุนความรู้ ต้นทุนพนักงาน ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนขนส่ง ฯลฯ เทคนิคของธุรกิจนี้คือ การควบคุมต้นทุนให้ได้ เดิมปั่นจักรยานส่งสินค้า ไม่มีค่าพลังงาน ตอนนี้เริ่มมีลูกค้ามากขึ้น แต่อยู่ระยะทางไกลออกไป

          หากคิดจะเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะแทน ก็ต้องคำนวณค่าดาวน์รถค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอรถที่เพิ่มขึ้นมาว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่จะลงทุนเพื่อรับรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น ในบางกรณี SMEต้องเรียนรู้ที่จะวางแผนการเดลิเวอรี่เป็นช่วงเวลาอย่างชัดเจน เช่น มื้อกลางวันส่ง 10 โมงเช้า ถึงเที่ยง มื้อเย็นส่ง 4 โมง ถึง 6 โมงเย็น เพื่อการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          คุณภาพ คำว่าเดลิเวอรี่ หลายคนมักนึกถึงการจัดส่งที่ “รวดเร็ว” จนอาจมองข้ามคุณภาพในการจัดส่งไป หากเป็นธุรกิจเดลิเวอรี่อาหาร คุณภาพในที่นี้ก็หมายถึง “ความถูกต้องของเมนู” ที่สั่ง หน้าตาอาหาร ความสด ร้อน อร่อย ที่ไม่ต่างจากการรับประทานที่ร้านมากนัก จึงต้องมีการลงทุนกล่องเก็บความร้อนเพื่อรักษาอุณหภูมิและคุณภาพอาหาร หากเป็นธุรกิจเดลิเวอรี่อื่นๆ เช่น ดอกไม้ ผักสด ผู้ประกอบการต้องยอมลงทุน “รถขนส่งขนาดย่อม” ในการเดลิเวอรี่

          การบริการ จะต้องมีทีมงานที่มีความรับผิดชอบ “ใจพร้อมบริการ” เริ่มมาตั้งแต่โอเปอเรเตอร์รับออเดอร์ โดยเฉพาะ “คนส่งของ” ที่ต้องไปพบกับลูกค้าโดยตรง ต้องได้รับการฝึกอบรมที่จะให้บริการด้วยความสุภาพ และใส่ชุดยูนิฟอร์มเพื่อแสดงความเป็นมืออาชีพ

          กรณีสินค้าที่เดลิเวอรี่อยู่ในรูปแบบของ “งานบริการ” บุคลากรผู้ให้บริการต้องมีความรู้ ความสามารถ หรือมีคุณสมบัติตรงตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น พนักงานที่ให้บริการอยู่ไฟเดลิเวอรี่ต้องจบการอยู่ไฟหลังคลอดจากกระทรวงสาธารณสุข หากลูกค้าไม่เชื่อมั่น พนักงานต้องมีใบประกาศนียบัตรยืนยันการันตี กรณีลูกค้าไม่พึงพอใจในบริการที่ได้รับ SME ต้องพร้อมมี “ทีมงานสำรอง” ไว้รองรับด้วย

          ความรวดเร็ว มิได้หมายความถึงการวิ่งรถนำสินค้าไปส่งยังจุดหมายเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงทุกขั้นตอนในธุรกิจที่ต้องกระชับ ฉับไว เช่น การรับสายลูกค้า การตอบคำถามทางอีเมล์ เฟซบุ๊ก การผลิตสินค้า และสุดท้ายคือการเดลิเวอรี่กระจายส่งสินค้าหรือบริการให้ทันเวลา ขั้นตอนอื่นๆ อาจบริหารจัดการได้ไม่ยุ่งยาก เพราะเป็นการผลิตซ้ำเป็นประจำ แต่ในเรื่องของการเดินทางไปถึงที่หมายแล้ว หากไม่ใช่เส้นทางเดิมก็ต้องศึกษาเส้นทางการขับขี่ให้ดี เพื่อไม่ให้หลงทางจนเสียเวลาและสิ้นเปลืองพลังงาน หรือกรณีมีรถขนส่งหลายคัน เส้นทางเดียวกันก็ไปด้วยกันได้เลย

 

จุดอ่อนของเดลิเวอรี่ที่ SME ต้องระวัง

          ด้วยเงินทุน กำลังคน เครื่องไม้เครื่องมือที่ค่อนข้างจำกัด อาจเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนธุรกิจของ SME แต่หากคิดจะเอาจริงในธุรกิจเดลิเวอรี่ก็ต้องหาวิธีแก้ไขปัญหากันไป

 

          1. แบรนด์ SME เกิดใหม่ ไม่เป็นที่รู้จัก

          สมัยนี้ต้องรู้จักใช้ “สังคมออนไลน์” ให้เป็นประโยชน์ นอกจากจะช่วยประหยัดเงิน ยังสามารถสื่อสารได้ในวงกว้าง หากทำธุรกิจเดลิเวอรี่อาหาร ก็ให้โพสต์รูปเมนูอาหารสวยๆ ลงในช่องทางที่เลือกไว้ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม พร้อมบอกรายละเอียดที่สำคัญในการติดต่อ เช่น เบอร์โทรศัพท์ เมนูอาหาร อัตราค่าบริการ หากเกิดกระแสลูกค้าช่วยแชร์ต่อ ก็จะยิ่งเพิ่มการรู้จักแบรนด์ โอกาสในการออเดอร์ก็จะมากขึ้น ในทางกลับกัน หากอาหารที่จำหน่ายมีความโดดเด่นเป็นที่ต้องการ เช่น อาหาร Clean Food เพื่อสุขภาพ แทนที่จะต้องวิ่งหาลูกค้า อาจเป็นลูกค้าที่ต้องเข้ามาทำความรู้จักเสียเอง

          2. กำลังคนน้อย ส่งจำกัดพื้นที่

          ปัญหาของ SME คือ กำลังคนน้อย เพราะหากจะจ้างพนักงาน นั่นหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้น โดยที่ยังมองไม่เห็นกำไร สมาชิกในครอบครัวจึงเป็นแรงงานที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ดี อย่ากังวลว่าจะกำหนดพื้นที่ส่งได้ไม่กว้างขวางมากนัก แต่ควรยึดครองพื้นที่ในละแวกที่ตั้งธุรกิจที่ตัวเองมีความชำนาญในพื้นที่ให้ได้ก่อน เพราะสามารถวางแผนการเดินทาง คุมต้นทุนค่าขนส่ง และรักษาคุณภาพของสินค้าได้ นอกจากนี้ อย่ามองพื้นที่เป็นแนวระนาบ หากพื้นที่ใดมีคอนโดมิเนียมหรืออาคารสำนักงาน ก็เปลี่ยนคนที่อยู่อาศัยจำนวนมากในตึกสูงเป็นลูกค้าเสียเลย

          3. กำลังผลิตไม่พอต่อความต้องการ

          คนน้อยยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ พื้นที่การผลิตที่มีขนาดเล็กก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านการผลิตเช่นกัน หากพื้นที่นั้นมีศักยภาพสำหรับการเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่จริง ก็จำเป็นต้องวางแผนการผลิตใหม่ เพื่อลดระยะเวลาการผลิตให้น้อยลง ปริมาณงานได้มากขึ้น แต่คุณภาพยังคงดีเด่นเช่นเดิมหรือมากกว่า เช่น การตกแต่งพวงหรีดด้วยดอกไม้ หากสร้างแพทเทิร์นไว้ให้จัดตามแบบ จะช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น ทั้งยังได้มาตรฐาน ที่สำคัญกรณีรับพนักงานใหม่เข้ามา ย่อมเรียนรู้งานไปตามขั้นตอนได้ไม่ยาก ทำให้กำลังการผลิตลื่นไหล ไม่หยุดชะงัก เป็นต้น

          4. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน

          การลงทุนคราวเดียวแล้วนั่งรอให้ลูกค้าโทรเข้ามาออเดอร์อาจดูเสี่ยงเกินไป เพราะถ้าไม่มีออเดอร์เข้ามาหรือเข้ามาน้อยกว่าที่คิด
“ทุนย่อมจม” รายได้หดหาย ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ควรคิดหาวิธีที่จะได้ออเดอร์มาอยู่กับตัวเพื่อการันตีรายได้ที่จะเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ เช่นการทำธุรกิจเดลิเวอรี่ด้วยระบบสมาชิกที่มีการจ่ายเงินก่อนล่วงหน้า หรือการกำหนดขั้นต่ำในการใช้บริการ อย่างการรับบริการเดลิเวอรี่นมสดขั้นต่ำ 300 บาท ต่อสัปดาห์ หรือรับตะกร้าผักราย 3 เดือน

          ทั้งนี้ รายได้ที่ได้มาล่วงหน้านั้นอาจจะล่อตาล่อใจ SME ต้องรู้จักบริหารจัดการให้ดีและสุจริต ที่สำคัญต้องเดลิเวอรี่สินค้าหรือบริการตามที่ตกลงกันไว้กับลูกค้า หากลูกค้าประทับใจไม่เพียงแต่จะใช้บริการเดลิเวอรี่อย่างต่อเนื่อง แต่ยังจะช่วยแนะนำบอกต่อให้อีกด้วย

 

 

ที่มา : นิตยสาร SME ชี้ช่องรวย ปีที่ 11 ฉบับเดือนกุมภาพันธ์

Tags: