โอกาสของคนตัวเล็ก

Responsive image

ธุรกิจ SME ต้องทำพอดีตัว

งานใน สสว. ที่ผมช่วยในระยะนี้ คือโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ SME ที่เราเรียกกันติดปากว่า “Turnaround” เป็นโครงการ ที่ สสว. ร่วมกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ให้การวินิจฉัยวิเคราะห์ถึงปัญหาที่แท้จริงของการที่ทำให้ธุรกิจที่เริ่มไม่ปกติ ไม่ว่าเป็นปัญหาด้านการเงิน การตลาด ฯลฯ      เมื่อได้ความชัดเจนถึงต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้ธุรกิจเดินสะดุด ยอดขายลด การเงินเริ่มไม่คล่อง มีปัญหาการชำระหนี้เงินกู้ ปัญหาอื่นๆ แล้วภาครัฐจะได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายนั้นให้สามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ไม่ต้องแก้ปัญหาด้วยตนเองเพียงลำพัง เพราะหากไม่สำเร็จก็อาจถึงขั้นต้องหยุดหรือเลิกกิจการ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น       หากท่านประสบปัญหาดังกล่าวอยู่หรือมีความสนใจต้องการสมัครเข้าร่วมโครงการหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงเข้าเว็บไซต์ของ สสว. หรือของ มทร. ธัญบุรี ประชาสัมพันธ์เรื่องที่เป็นประโยชน์เรียบร้อยก็อยากจะคุยถึงประเด็นที่จั่วหัวบทความไว้ในคราวนี้      จากประสบการณ์และการรวบรวมข้อมูลของผม พบว่าธุรกิจที่มีปัญหาเป็นเพราะทำธุรกิจไม่พอดีตัว พูดแค่นี้หลายท่านคงขมวดคิ้ว ทำหน้างงๆการทำธุรกิจมีองค์ประกอบสองอย่างคือ ทรัพยากร และ โอกาส       องค์ประกอบทั้งสองตัวนี้ต้องสมดุลพอดีกัน ตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไปก็ก่อให้เกิดปัญหาได้ หากท่านมีทรัพยากร (เช่น เงินทุน กำลังการผลิต บุคลากร ฯลฯ) มากกว่าโอกาส (ตลาด) ท่านก็มีทรัพยากรส่วนเกินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่าย       หากมีภาระนี้มากไปหรือยาวนานเกินไปธุรกิจก็เดินสะดุดทันที เพราะรายจ่ายมากกว่ารายรับ ทางแก้ไขคือต้องลดขนาดของทรัพยากรให้เหมาะกับโอกาส (ตลาด) เช่น ลดหรือขายทรัพยากรส่วนเกินออกไป หรือใช้ทรัพยากรนั้นไปพัฒนาให้เหมาะกับโอกาสที่มีหรือเหมาะกับโอกาสใหม่ๆที่มี      ด้านโอกาสก็ต้องพยายามขยายตลาดให้พอดีกับขนาดของทรัพยากร ในทางตรงกันข้ามหากโอกาส (ตลาด) มีมากกว่าทรัพยากร ท่านก็ต้องเพิ่มทรัพยากร ส่วนใหญ่ธุรกิจ SME มักเพิ่มทรัพยากร (เช่น เครื่องจักร แรงงาน วัตถุดิบ ฯลฯ) ด้วยการกู้ยืม ก่อภาระหนี้สิน เพราะฉะนั้นก็เป็นการเพิ่มภาระ หากโอกาส (ตลาด) โตต่อเนื่อง ขายสินค้าได้กำไรก็ไม่มีปัญหาในการจ่ายชำระหนี้สิน       ส่วนใหญ่ธุรกิจ SME ไม่มีความไวในการปรับตัวหรือไม่มีการวางแผนล่วงหน้าดีเท่าที่ควร เมื่อปัจจัยภายนอก (โอกาส) หรือปัจจัยภายใน(ทรัพยากร) เปลี่ยนไปก็จะเกิดการไม่สมดุล และก่อให้เกิดปัญหาในการทำธุรกิจทันที       สาเหตุที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งของธุรกิจ SME คือ มักทำธุรกิจตามคนอื่นพูดง่ายๆ ว่าเห็นคนอื่นทำธุรกิจแบบนี้ แล้วประสบความสำเร็จ รวย แล้วก็ทำตามโดยไม่วิเคราะห์ให้ดีถึงปัจจัยความสำเร็จหรือล้มเหลวของธุรกิจนั้นๆ หรือไม่ดูให้ดีว่าโอกาส (ที่อาจจะมองแต่ด้านดี) นั้นมันเหมาะกับทรัพยากรที่มีหรือสามารถหาได้หรือไม่       หลายครั้งหลายธุรกิจเมื่อเริ่มเข้าสู่ธุรกิจนั้นอาจจะประสบความสำเร็จแต่พอทำไปทำไป มันไม่สวยงามเหมือนที่คิดไว้ เริ่มมีปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการแข่งขันมากขึ้น หรือการเติบโต ความยุ่งยากของการทำธุรกิจเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการ       ผู้ประกอบการ SME รายหนึ่งมาพูดคุยกับผม เล่าให้ฟังว่าเดิมเป็นผู้รับเหมาทำกรอบประตูหน้าต่างอลูมิเนียม สะสมประสบการณ์ ทุน (ทรัพยากร) และมีลูกค้าจำนวนหนึ่งเป็นพรรคพวก ผู้รับเหมาด้วยกัน (โอกาส) ทำๆ ไปก็รู้สึกว่าน่าจะขยายธุรกิจให้โตขึ้น แต่ปัญหาแรงงานทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจทำกรอบประตูหน้าต่างอลูมิเนียมให้โตกว่านี้ไปได้ทั้งที่มีตลาด (โอกาส)        ด้วยความที่เข้าใจเชื่อมั่นว่าตนเองรู้จักแหล่งซื้อวัสดุก่อสร้าง (ทรัพยากร) มีพรรคพวกผู้รับเหมาที่พร้อมเป็นลูกค้า (โอกาส) เลยตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจเข้าทำธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ สนามรบใหม่ที่ตนเองไม่คุ้นเคย ในระยะแรกธุรกิจพอไปได้ เพราะสามารถบริหารความสมดุลระหว่างทรัพยากรและโอกาสได้ดี        เมื่อเริ่มเข้าปีที่ 5 ของการทำธุรกิจ ปัญหาเริ่มมาเยือน สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้ยอดขายลด การแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหญ่กว่ารุนแรงขึ้นผู้ประกอบการรายนี้คิดว่าต้องขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น ซื้อวัสดุก่อสร้างให้มากขึ้น ราคาจะถูกลง ก็จะสามารถสู้กับคู่แข่งรายใหญ่กว่าได้        เมื่อต้องเพิ่มทรัพยากรก็เริ่มกู้เงินธนาคารมาลงทุนสร้างโกดังเก็บสินค้า ซื้อรถกระบะเพิ่ม จ้างลูกน้องเพิ่ม ฯลฯ พูดง่ายๆ เพิ่มภาระให้ตัวเองมากขึ้น แต่โชคร้ายที่ตนเองไม่สามารถขยายตลาด (โอกาส) ให้โตเพิ่มขึ้นตามทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น การก่อสงครามราคากับคู่แข่งรายใหญ่กว่าเป็นการเร่งให้ธุรกิจเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นและแก้ยากขึ้น         หากผู้ประกอบการรายนี้วิเคราะห์ให้ดีก่อนว่าธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างต้องใช้ทุนและแรงงานมาก และต้องมีขนาดใหญ่พอสมควรจึงจะประสบความสำเร็จ เพราะเป็นธุรกิจที่กำไรน้อย เพราะฉะนั้นต้องขายมากจึงจะมีกำไรพอให้เติบโตต่อไป นี่คือจุดเป็นจุดตายของการทำธุรกิจนี้         ทางแก้คือปรับมุมมอง ปรับความคิด ปรับวิธีการทำธุรกิจ ปรับขนาดธุรกิจให้เหมาะกับความสามารถ ทรัพยากรที่มีและโอกาส (ตลาด) หรือปรับรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model)          สิ่งที่ผมแนะนำในวันนั้นคือให้กำลังใจและชี้ให้เห็นและเข้าใจในเรื่องความสมดุลของทรัพยากรและโอกาสที่เอามาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้ หลังจากนั้นก็มอบหมายให้ที่ปรึกษามืออาชีพในโครงการ “Turnaround” ให้การปรึกษาลงลึกในรายละเอียดให้รู้ถึงปัญหาที่ชัดเจน และแนวทางแก้ไข         อย่าลืมนะครับ ทำธุรกิจต้องพอดีตัว ต้องรู้ขีดความสามารถในการจัดความสมดุลของทรัพยากรและโอกาส ที่เหลือก็อยู่กับนิสัยหรือรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละท่าน        ท่านที่เป็นคนหัวอนุรักษ์อาจจะเผื่อทรัพยากรให้มากกว่าโอกาสนิดหน่อยไม่เสี่ยง ไม่ก่อหนี้ ทำธุรกิจตามแนวพอเพียง แต่ท่านที่ชอบเสี่ยง กล้าได้กล้าเสีย อาจจะเน้นหาหรือสร้างโอกาสมากกว่าทรัพยากรที่มี แต่ก็ขอว่าอย่าให้มากเกินไปจนต้องกู้ยืมมาเพิ่มทรัพยากรจนอาจเกิดปัญหาได้   ทำธุรกิจพอดีตัว เบ่งนิดหน่อยได้ อย่ามากเกินไปครับ
Tags: