โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

คลัสเตอร์พลังงานทดแทน ดันผู้ประกอบการ สร้างรายได้แบบยั่งยืน

      ปัจจุบันจึงได้มีการสนับสนุน “โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด” ภายใต้การดำเนินงานของสำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จให้เป็นต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจภาคพลังงานทดแทน ซึ่งจะมีการคัดเลือกคลัสเตอร์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

       พิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานคลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คลัสเตอร์พลังงานทดแทนก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสถานประกอบการด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ จำนวน 184 ราย และมีจำนวนสมาชิกคลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ ส.อ.ท. ประมาณ 120 กิจการ และยังมีสมาชิกคลัสเตอร์ภายใต้โครงการสนับสนุนของ สสว. อีกกว่า 100 กิจการ

       หากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน พิชัยเผยว่าไทยจัดเป็นผู้นำอันดับ 1 ทั้งในด้านการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากประเทศอื่นๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนมากเท่าไรนัก เพราะแต่ละประเทศมีแหล่งพลังงานทดแทนมากอยู่แล้ว

       ในขณะที่ไทยใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตขึ้นจากหลายวัตถุดิบ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท 1. พลังงานไฟฟ้า มีวัตถุดิบ คือ แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ 2. พลังงานความร้อนมีวัตถุดิบ คือ แสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ ก๊าซชีวภาพ และ 3. พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ มีวัตถุดิบ คือ เอทานอล ไบโอดีเซล

       จาตุรงค์ ชาติสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.วาย.เอส.เพลเลท มิลล์ จำกัด ตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการในจังหวัดสุพรรณบุรีที่เข้าร่วมโครงการคลัสเตอร์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตพลังงานทดแทนจากวัตถุดิบการเกษตรที่มีอยู่ คือ แกลบ ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว นำมาเข้าสู่กระบวนการอัดเม็ดเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิต เป็นต้น

       การแปรรูปดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งการสร้างพลังงานทดแทนด้านเชื้อเพลิงจากวัตถุดิบที่มีอยู่จำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายพลังงานทดแทน อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดปัญหาขยะที่เหลือจากการเกษตร ซึ่งทางหน่วยงานรัฐได้มีการสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาและขยายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการมีช่องทางการจัดจำหน่าย

        ในส่วนแนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาได้มีการร่วมประชุมหารือโครงสร้างของแต่ละประเภทที่แตกต่างกันและเหมือนกันในบางส่วน ซึ่งจำเป็นต้องลงรายละเอียดในแต่ละประเภทให้ชัดเจน เพื่อให้มีการพัฒนาที่ตรงตามวัตถุประสงค์และดำเนินกิจกรรมพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายให้เข้มแข็ง มีการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กระบวนการดำเนินกิจกรรมนั้นจะมุ่งเน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน

       โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการอีก 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมหม่อนไหม โดยช่วยทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงสนับสนุนเครือข่ายเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอย่างถูกต้อง

        ในส่วนของโครงการพลังงานทดแทนอาเซียน (ASEAN Renewable Energy Center) จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้พื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอภาคใต้ เป็นพื้นที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานประกาศเป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนเอง แต่ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือในประเด็นการให้ความสะดวกขั้นตอนการอนุญาต โดยประธานคลัสเตอร์ ส.อ.ท. กล่าวทิ้งท้ายว่า

       “ประเทศไทยเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนในอาเซียน โดยเฉพาะไทยถูกล้อมรอบด้วยกลุ่ม CLMV ที่มีทรัพยากรด้านชีวมวลเป็นจำนวนมาก รวมถึงนโยบายภาครัฐในปัจจุบันต้องการผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากจะเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้พื้นที่ภาคใต้ระยะยาวแล้ว ยังสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและโครงสร้างพื้นฐานด้วย”

 

Tags: